“นิด้า” คาด ดัชนีหุ้นไทยปี 55 แตะที่ระดับ 1,150 จุด แม้จะมีความเสี่ยงจากหนี้ยุโรป แต่จะได้แรงหนุนจากการขยายตัวของภูมิภาคอื่น และการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% ดึงต่างชาติเข้าลงทุน พร้อมมองแนวโน้ม “จีดีพี” โตได้ 5% หลังภาครัฐเร่งอัดงบฟื้นฟูประเทศ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทั้งมาตรการปรับขึ้นฐานเงินเดือน 15,000 บาท และบัตรเครดิตชาวนา
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงทิศทางตลาดหุ้นของไทยในปี 2555 โดยมองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีความเป็นไปได้จะแตะที่ระดับ 1,150 จุด แม้ยังต้องเผชิญกับความผันผวนจากหนี้สาธารณะในยุโรป แต่ก็ได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น และการประกาศปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือร้อยละ 23 จากเดิมร้อยละ 30 จะทำให้มีแรงดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นสูงกว่าประเทศอื่นๆ ส่วน PE Ratio ก็ต่ำกว่าอีกหลายประเทศ จึงคาดว่าดัชนีหุ้นไทยในปี 2555 มีความเป็นไปได้จะแตะที่ระดับ 1,150 จุด อย่างแน่นอน
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2555 เชื่อว่า จะสามารถขยายตัวอยู่ในกรอบไม่เกิน 5% โดยภาครัฐยังเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากนโยบายการใช้งบฟื้นฟูประเทศที่มุ่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ตลอดจนการดูแลกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบ ตั้งแต่การบริโภค ภาคการลงทุน ภาคการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายบัตรเครดิตชาวนา การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท นโยบายบ้านหลักแรกและรถยนต์คันแรก ล้วนเป็นนโยบายที่มุ่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการใช้จ่ายของประชาชน เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจชดเชยการส่งออกในปี 2555 ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 8% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป และเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ที่คาดว่า ในปี 2555 จะสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.0 และมีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ร้อยละ 3
“มองว่า ในปีหน้าปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย มีทั้งปัจจัยภายนอกประเทศจากหนี้สาธารณะในยุโรปและเศรษฐกิจอเมริกาที่กดดันต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลก ทำให้ไทยที่พึ่งพาการส่งออกต้องเตรียมพร้อมรับมือ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งมีทั้งเรื่องการเมืองที่ยังมีความขัดแย้ง ตลอดจนการใช้นโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องใช้การบริหารจัดการที่เหมาะสมและสอดคล้องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจให้ถูกต้องเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”