"บีโอไอ" เตือน "คลัง" ทบทวนให้รอบคอบ หากเลิกสิทธิส่งเสริมการลงทุน เพื่อแลกกับการลดภาษีนิติบุคคล ชี้ 50% ของธุรกิจที่จ่ายภาษีให้รัฐ เป็นกลุ่มที่ได้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอ ห่วงทำรัฐขาดรายได้ ระบุ เผยกำลังปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์มากขึ้น
นายส่งศักดิ์ ลิมบานเย็น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังจะพิจารณายกเลิกสิทธิบีโอไอ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% ในปี 2555 โดยระบุว่า อาจเกิดผลกระทบต่อโครงสร้างการลงทุน ทั้งนี้ รัฐบาลแน่ใจหรือว่า เมื่อยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบีโอไอไปแล้ว จะขยายฐานภาษีได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ บริษัทกว่า 50% ที่จ่ายภาษีให้รัฐบาล เป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เนื่องจากบริษัทที่ได้รับส่งเสริมฯ จำเป็นต้องเสียภาษีอย่าเคร่งครัดตามกฎหมาย รวมทั้งยังเป็นที่มาของภาษีต่อเนื่องอื่นๆ อีกด้วย เช่น การใช้จ่ายของพนักงาน และการเสียภาษีบุคคลธรรมดาของพนักงาน เป็นต้น ทั้งนี้ มองว่าบีโอไอถือเป็นส่วนหนึ่ง ในการสร้างงานสร้างฐานภาษี ให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากกว่า
"แม้ว่าบีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี แต่โดยส่วนใหญ่บริษัทก็ไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์เต็มอยู่แล้ว เพราะในช่วงแรกของการลงทุนยังไม่มีกำไร ดังนั้น ในแง่การดึงดูดการลงทุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของบีโอไอ ยังมีประโยชน์อยู่มาก เพราะนักลงทุนจะพิจารณาเปรียบเทียบเรื่องสิทธิประโยชน์มากกว่า"
ส่วนเรื่องภาษีนิติบุคคลไปลงทุนที่ประเทศไหนก็จำเป็นต้องจ่ายเหมือนกัน จึงต้องแข่งกันด้วยสิทธิประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บีโอไออยู่ระหว่างการทำยุทธศาสตร์การลงทุน ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนการให้สิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่แล้ว โดยจะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ในบางประเภทกิจการ และให้สิทธิประโยชน์ในกิจการใหม่ๆ ภายในประเทศ