xs
xsm
sm
md
lg

ส.PUBAT ขอพบนายกฯ ค้านนโยบายแจกแท็บเล็ต ชี้กระทบการอ่านระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนวงการหนังสือฉะ! แจก “แท็บเล็ต” เป็นนโยบายประชานิยมหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก กระทบระยะยาวเด็กไทยรักการอ่านลดลง นายก ส. PUBAT เผยส่งหนังสือขอพบนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงศึกษาฯ เร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการอ่าน พร้อมมาตรการลดหย่อนภาษี ขณะที่กระแสเทคโนโลยีมาแรง ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวทำคอนเทนต์ใส่ อีบุ๊กหนีตายจาละหวั่น

วานนี้ (20 ก.ย.) ในงานเสวนา “วาระการอ่านแห่งชาติหายไป แต่ได้ One Tablet กลับมา” จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคม PUBAT กล่าวว่า ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี จะทำให้ความสัมพันธ์ของสถาบันครอบครัวลดลง โดยส่วนตัวยังมองว่าหนังสือยังมีความสำคัญของการสร้างสังคมและชุมชนให้แข็งแรง

โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพื่อการเรียน แต่ไม่ใช่มาใช้เพื่อทดแทน เป็นห่วงว่า ความรักในครอบครัวจะถูกทำลายด้วยเทคโนโลยี และจากนโยบาลรัฐที่จะแจก Tablet ให้กับเด็ก ป.1 ซึ่งยังไม่มีความพร้อมด้านการอ่าน ด้านความเข้าใจ จะก่อเกิดการใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ เสียงบโดยใช่เหตุ

โรงพิมพ์เร่งปรับตัว

ทั้งนี้ หากไม่สามารถต้านกระแสเทคโนโลยีได้ ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์หนังสือต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ซึ่งเฉพาะกลุ่มโรงพิมพ์หนังสือแบบเรียน ซึ่งมีรายใหญ่ราว 7 รายในอุตสาหกรรม ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือ จากปริมาณการซื้อที่จะลดลง หันมาทำคอนเทนในอีบุ๊กกิ้งเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแจก Tablet เพราะระยะยาวจะกระทบการสร้างนิสัยการอ่านให้ลดลง แต่เด็กไทยจะหมกมุ่นไปกับการเล่นเกมแทน

ล่าสุด สมาคมได้ส่งหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา เพื่อหารือการผลักดันนโยบายส่งเสริมการอ่านให้ดำเนินต่อไป เพื่อต่อยอดการประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบายภาษี สำหรับผู้ที่ซื้อหนังสือเพื่อการอ่าน นำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ เพื่อส่งเสริมด้านปัญหา เพราะการลดภาษีลดยนต์ หรือภาษีบ้าน เป็นการกระตุ้นการบริโภค ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือลดลง จากปี 2548 อ่านหนังสือ 51 นาที ต่อคนต่อวัน ปี 2551 ลดเหลือ 39 นาทีต่อคนต่อวัน ช่วงวัยที่อ่านหนังสือน้อย คือ เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ช่วงที่อ่านหนังสือมากคือผู้สูงอายุ คน กรุงเทพฯ ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือ 85% ขณะที่ต่างจังหวัดใช้เพียง 58%

งานมหกรรมหนังสือเงินสะพัด 500 ล้านบาท

นายวรพันธ์กล่าวว่า ปีนี้สมาคมกำหนดจัดมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 16 ระหว่าง 5-16 ต.ค.54 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “อ่านทั่วไทย อ่านได้ทุกที่” โดยจะเป็นปีแรกและประเทศแรกในเอเชีย ที่ใช้โซเชียลมีเดีย มาเสริมให้เกิดการอ่านเพิ่มขึ้น คาดว่าปีนี้ จะมีผู้เข้าชมงานกว่า 1.8 ล้านคน เพิ่มจากปีก่อน ที่มีราว 1.5 ล้านคน เกิดเงินสะพัด กว่า 500ล้านบาท เติบโตราว 5% เพราะเป็นการจัดที่เต็มพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร จึงเติบโตไม่ได้มากนัก

แจก “แท็บเล็ต” นโยบายประชานิยม

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศึกษา ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และ รองศาสตร์จารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต และ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล โดยทุกคนกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า การแจกแท็บเล็ตเป็นนโยบายประชานิยม ที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ขณะที่กลุ่มที่จะเป็นผู้รับ คือเด็ก ป.1 ยังถือเป็นกลุ่มที่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ และไม่มีความเข้าใจจากการอ่านหนังสือมากพอที่จะใช้เทคโนโลยี จะทำให้เกิดการใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ และในพื้นที่ห่างไกลที่รับสัญญาณ 3 จีไม่ได้แท็บเล็ตก็จะไม่มีประโยชน์เลย

“ทางที่ดีรัฐบาลควรมุ่งส่งเสริมให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้อย่างแตกฉาน เพราะผลสำรวจยังพลว่าเด็กไทย ป.4 ยังอ่านหนังสือได้น้อย มีสัดส่วนอยู่จำนวนมาก และยังเป็นการอ่านที่ไม่รู้ความหมาย ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ส่วนการแจกแท็บเล็ตควรจะเริ่มต้นที่มัธยม 1 จึงเหมาะสม และได้ประโยชน์คุ้มค่า”

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กล่าวว่า ผลสำรวจช่วง 3 ปีนี้ พบเด็กไทยมีไอคิวต่ำในสัดส่วนถึง 30% โดยพาะเด็กในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล และเด็กเร่ร่อน ขณะที่ครูซึ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษาก็ยังพบว่า อ่านหนังสือไม่เป็นปัญหาที่พบบ่อย คือ อ่านไม่ได้ อ่านแล้วไม่เข้าใจความหมาย รัฐบาลจึงควรรณรงค์ให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้มากกว่าการมองเรื่องผลประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น