xs
xsm
sm
md
lg

TFEX ปรับเพิ่มมาร์จินฟิวเจอร์ส 19 ก.ย.นี้ เพิ่มความเร้าใจช่วงตลาดผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


TFEX ปรับเพิ่มมาร์จิน ทั้งโกลด์ฟิวเจอร์ส และ ฟิวเจอร์สของดอกเบี้ย เริ่ม 19 ก.ย.นี้ ยันระบบซื้อขายพร้อมรองรับ ระบุ การปรับเปลี่ยนหลักประกันในครั้งนี้ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างสูง ตลาดอนุพันธ์ จึงต้องการแจ้งข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมเงินสำรองไว้สำหรับการวางหลักประกันได้ทันการณ์ เนื่องจากในช่วงที่สภาพตลาดมีความผันผวนเช่นนี้ ผู้ลงทุนจะมีการซื้อขายเพิ่มขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนสถานะและทำกำไร

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำนักหักบัญชีได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราหลักประกันของโกลด์ฟิวเจอร์สและฟิวเจอร์สของดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2554 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การปรับหลักประกันดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราหลักประกันที่โบรกเกอร์เรียกเก็บจากผู้ลงทุนทั่วไปตามมาตรฐานของชมรมผู้ประกอบธุรกิจนายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (FI Club) เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

หลักประกันของโกลด์ฟิวเจอร์ส ขนาด 50 บาททองคำ เพิ่มขึ้นจาก 74,100 บาทต่อสัญญา มาเป็น 92,150 บาทต่อสัญญา โกลด์ฟิวเจอร์สขนาด 10 บาททองคำ จาก 14,820 บาทต่อสัญญา มาเป็น 18,430 บาทต่อสัญญา

ฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย THBFIX ประเภท 6 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 10,450 บาทต่อสัญญา มาเป็น 21,850 บาทต่อสัญญา และฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี เพิ่มขึ้นจาก 5,890 บาทต่อสัญญา มาเป็น 9,500 บาทต่อสัญญา

นอกจากนี้ ยังมีการปรับอัตราหลักประกันของฟิวเจอร์สของหุ้นรายตัวเพิ่มขึ้นสำหรับ 7 หุ้นอ้างอิงด้วย

“การปรับเปลี่ยนหลักประกันในครั้งนี้ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างสูง ตลาดอนุพันธ์ จึงต้องการแจ้งข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมเงินสำรองไว้สำหรับการวางหลักประกันได้ทันการณ์ เนื่องจากในช่วงที่สภาพตลาดมีความผันผวนเช่นนี้ ผู้ลงทุนจะมีการซื้อขายเพิ่มขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนสถานะและทำกำไร”

ทั้งนี้ เห็นได้จากเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อขายของตลาดอนุพันธ์เพิ่มสูงขึ้นจนทำสถิติสูงสุดถึง 122,572 สัญญา ในวันที่ 25 สิงหาคม 2555 ซึ่งในส่วนปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นนี้ ตลาดอนุพันธ์มีความพร้อม และมั่นใจว่า ระบบการซื้อขายของตลาดอนุพันธ์สามารถรองรับได้ แม้ปริมาณการซื้อขายจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น