xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ลดถือครองดอลลาร์ รับมือ ศก.US ซึมยาว เผยลดสัดส่วนมาตลอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อัจนา ไวความดี” วิเคราะห์มาตรการสหรัฐฯ เพิ่มเพดานหนี้สำเร็จ ไม่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว ชี้ อนาคตสหรัฐฯ จะพบข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลฟื้นตัวยาก เผยทุนสำรองของไทยปัจจุบันเหลือเงินดอลลาร์น้อยลง เหตุทยอยลดสัดส่วนมาตั้งแต่ปี 2547

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้สหรัฐสามารถขยายเพดานหนี้ได้อีก 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการบรรลุข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้นำพรรคเดโมแครต กับพรรครีพับลิกัน เพื่อแลกกับมุมมองเศรษฐกิจที่ดูมีความมั่นคงขึ้นและไม่ให้มีปัญหาปรับลดเครดิตสหรัฐฯตามมา แต่ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพราะในอนาคตจะเป็นการเพิ่มข้อจำกัดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของสหรัฐได้น้อยลง ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของสหรัฐในระยะต่อไปด้วย

“ไม่เฉพาะสหรัฐฯ แต่ในกลุ่มประเทศ G3 ซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นต่างก็มีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างหนี้สาธารณะเป็นหลัก และมองว่า ในอนาคตโอกาสที่กลุ่ม G3 จะทำนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวยากจะยิ่งไม่มีแรงกระตุ้นมากนัก” รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

นางอัจนา เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลให้มูลค่าเงินดอลลาร์น้อยลง ธปท.ได้มีการทยอยปรับลดสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์ในทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทยมาตั้งแต่ปี 2547 เช่นเดียวกับที่หลายประเทศทำกัน แต่ก็ต้องจำเป็นต้องมีเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไว้ด้วย เนื่องจากไทยยังมีการติดต่อการค้าขาย การลงทุน รวมถึงธุรกรรมอื่นๆ ในรูปเงินดอลลาร์อยู่

“แม้ช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาวิกฤตการเงินโลกก้นกระทะ แต่ในส่วนของเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวต่อไปได้ด้วยดี แต่ในภูมิภาคนี้บางประเทศอาจมีปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไทยก็เผชิญความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นที่ ธปท.ต้องดูแลเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ต้นทุนการเงินในอนาคตสูงกว่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายการเงินเป็นเรื่องที่มองไปข้างหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่มองว่านักลงทุนต่างชาติไม่ได้พิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นปัจจัยหลักของเงินทุนไหลเข้า แต่น่าจะเกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจและแนวโน้มค่าเงินมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น