xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าการ ธปท. เผยมุมมองค่าเงินบาท แนะ รบ.ใหม่ชะลอแผนกระตุ้น ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าการ ธปท. เผยแนวโน้มค่าเงินบาท เคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง แต่จะกลับสู่ภาวะปรกติ เมื่อปัญหากรีซคลี่คลาย และการเมืองไทยสงบ พร้อมฝากเตือน รบ.ใหม่ ไม่สมควรกระตุ้น ศก.มากนัก เพราะเป็นการไปส่งสัญญาณให้ตลาดการเงิน ไม่เหมาะสม เพราะตลาดการเงินจะคาดการณ์เงินเฟ้อไปในทางที่สูงขึ้น กลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ ศก.ได้

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทย โดนมองว่า ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวใน 2 ทิศทาง ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยจากทั้งในประเทศและนอกประเทศ ได้แก่ ปัจจัยการเมืองภายในประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศ แม้ว่าตอนนี้กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือชั่วคราวแล้ว แต่มองว่าจะช่วยพยุงสถานการณ์ได้ระยะหนึ่ง เพราะปัจจัยพื้นฐานยังต้องมีการแก้ไขปัญหา พร้อมระบุว่า อย่างน้อยปัญหาของกรีซก็จะหยุดได้ในระยะสั้น ไม่ลุกลามไปกระทบประเทศอื่นๆ ในยุโรป

ผู้ว่าการ ธปท. มั่นใจว่า หากปัจจัยทั้ง 2 คลี่คลายลง ก็จะทำให้ค่าเงินบาทกลับเข้าสู่ระดับที่สอดคลัองกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแม้จะอ่อนค่า แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเสริมว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอาจจะทำเงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะไทยมีการนำเข้าน้ำมัน แต่กรณีของไทย ศูนย์วิจัยของธปท. คำนวณว่าอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินเฟ้อมีความสัมพันธ์กันในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า 1% เงินเฟ้อจะลดลง 0.1-0.15%

ซึ่งในทางกลับกัน ถ้าเงินบาทอ่อนค่า 1% เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น 0.1-0.15% เพราะการอุปโภคบริโภคโดยรวมของไทยมีสัดส่วนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศไม่สูง เพราฉะนั้น อัตราแลกเปลี่ยนจึงมีผลต่อเงินเฟ้อไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่มีการใช้น้อยมาก เพราะค่าเงินสกุลใหญ่มีความไม่มั่นคงสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้นโยบาย 3 ด้านประกอบกัน คือ 1.เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี 2.อัตราดอกเบี้ย และ 3. อัตราแลกเปลี่ยน ในการดูแลเศรษฐกิจ โดยไทยเลือกนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายเสรีและอัตราดอกเบี้ยที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ถือว่าเหมาะสมกับปัจจุบัน และธปท.จะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกด้วย

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า ธปท.ยังจะให้น้ำหนักกับการดูแลอัตราเฟ้อต่อไป เพราะยังมีแรงกดดันอยู่ เพื่อไม่ให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะต่ออายุมาตรการค่าครองชีพอีกระยะหนึ่ง แต่ต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังประสานกัน เพื่อไม่ให้น้ำหนักมากไปในด้านใดด้านหนึ่ง หากนโยบายการคลังเข้ามาช่วยนโยบายการเงินก็ไม่ต้องเข้มงวดมากนัก

ขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามช่วยเหลือกัน นโยบายการเงินก็ปรับจากการใช้ดอกเบี้ยผ่อนคลายที่อยู่ที่ 1.25% ขณะนี้พยายามปรับเข้าสู่ระดับปกติ พร้อมยืนยันว่า ในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาท ธปท.จะไม่กลับมาใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เพราะการคงที่ค่าเงินด้วยการไปผูกค่าเงินไว้กับสกุลหลักสกุลใดสกุลหนึ่งไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วส่งผลให้งืนสกุลหลักในโลกผันผวนค่อนข้างมาก

ส่วนนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ส่วนใหญ่เน้นแนวทางประชานิยมนั้น นายประสาร มองว่า ไม่จำเป็นต้องขาดดุลงบประมาณมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ หากนโยบายการคลังส่งสัญญาณไปสู่ตลาดในระดับไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า

ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า อยากให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ก็ไม่อยากให้ดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้มากนัก การจัดงบประมาณปี 2555 ไม่ควรจัดงบขาดดุลเกินกรอบที่วางไว้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดงบขาดดุลที่ลดลงจากปี 2554 ที่ขาดดุล 4.2 แสนล้านบาท เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องไปกระตุ้นมากนัก เพราะมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงอยู่แล้ว

"ตอนนี้ไม่สมควรกระตุ้นเศรษฐกิจมาก เพราะเป็นการไปส่งสัญญาณให้ตลาดการเงิน ไม่เหมาะสม เพราะตลาดการเงินจะคาดการณ์เงินเฟ้อไปในทางที่สูงขึ้น อาจจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ จากตอนนี้เงินเฟ้อก็เป้นปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว"

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคง ตลาดการเงินก็อ่านทิศทางนโยบายการเงินว่าจะไปกระตุ้นในทิศทางไหน หรือรักษาเสถียรภาพ ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจไทยมีแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจพอสมควรแล้ว และมีความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น ตลาดการเงินไม่คาดหวังว่านโยบายการคลังจะกระตุ้นเศรษฐกิจไปมากกว่านี้

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากการที่ได้ไปสัมมนาต่างประเทศ พบว่า ประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา หันมาให้ความสนใจนโยบายการคลังกันมากขึ้น

"เป็นบทเรียนที่ไทยต้องนำแนวคิดนี้กลับมาใช้ เพราะถ้าเข้าสู่สถานการณ์แล้วจะแก้ไขยาก เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีส่วนหนึ่งที่เกิดจากการใช้นโยบายสร้างขึ้น และปัญหาที่เกิดมาจากธรรมชาติของเศรษฐกิจอยู่แล้ว เช่น ไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จะทำให้มีแรงงานน้อยลง ขณะที่คนสูงอายุมากขึ้น ในอนาคตจะสร้างแรงกดดันต่อฐานะการคลัง ดังนั้นไทยควรมีเป้าหมายไปในทิศทางนี้เช่นกัน"
กำลังโหลดความคิดเห็น