“บอร์ดบินไทย” เคาะจัดฝูงบินใหม่ 37 ลำ 1.19 แสนล้าน โดยจัดซื้อ 15 ลำ และเช่า 22 ลำ “ปิยสวัสดิ์” เดินหน้าแผนแปรรูป คาดชงรัฐบาลหน้า ยอมรับที่ผ่านมาเสียโอกาสไปเยอะ กว่าจะได้เงินซื้อเครื่องบินก็ตกรุ่นไปแล้ว ขณะที่ลักษณะธุรกิจมีการแข่งขันสูงกับยักษ์ใหญ่ของโลก ต่างกับธุรกิจของ ปตท.ที่ไม่ต้องแข่งขัน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2554 ได้มีมติอนุมัติการจัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 37 ลำ เพื่อเข้าประจำฝูงบินของบริษัท สำหรับปี 2554-2560 มูลค่ารวมประมาณ 118,604 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อจำนวน 15 ลำ มูลค่ารวมประมาณ 49,537 ล้านบาท และเช่าดำเนินงานจำนวน 22 ลำ มูลค่ารวมประมาณ 69,067 ล้านบาท
รายงานเพิ่มเติมระบุว่า การบินไทยจะเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนการจัดหาในทันที โดยบริษัทจะจัดหาเครื่องบินพาณิชย์ที่ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพื่อเข้าประจำฝูงบินของบริษัทสำหรับปี 54-60 จำนวน 37 ลำเพื่อใช้บินในเส้นทางข้ามทวีป เส้นทางภูมิภาค เส้นทางภูมิภาคระยะใกล้ และเส้นทางภายในประเทศ
ทั้งนี้ เป็นการจัดหาโดยการซื้อจำนวน 15 ลำ ได้แก่ เครื่องบิน B777-300ER จำนวน 6 ลำ กับ The Boeing Company กำหนดส่งมอบปี 2557 และปี 2558, เครื่องบิน A350-900 จำนวน 4 ลำ กับ Airbus S.A.S. กำหนดส่งมอบ ปี 2559 และ 2560 และ เครื่องบิน A320-200 จำนวน 5 ลำ กับ Airbus S.A.S. กำหนดส่งมอบปี 2557 และปี 2558
สำหรับการจัดหาโดยการเช่าดำเนินงาน จำนวน 22 ลำ ได้แก่ เครื่องบิน B787-8 จำนวน 6 ลำ สัญญาเช่า 12 ปี กำหนดส่งมอบในปี 2557 และปี 2558, เครื่องบิน B787-9 จำนวน 2 ลำ สัญญาเช่า 12 ปี กำหนดส่งมอบในปี 60 ทั้งสองรุ่นทำสัญญากับ กับ International Lease Finance Corporation (ILFC)
เครื่องบิน A350-900 จำนวน 6 ลำ สัญญาเช่า 12 ปี กับ Aviation Lease and Finance company (K.S.C.) กำหนดส่งมอบปี 2560, เครื่องบิน A350-900 จำนวน 2 ลำ สัญญาเช่า 12 ปี ทำสัญญากับ CIT Aerospace International (CIT) กำหนดส่งมอบปี 2559, เครื่องบิน A320-200 จำนวน 6 ลำ สัญญาเช่า 12 ปี ทำสัญญากับ RBS Aerospace Limited (RBSAL) กำหนดส่งมอบในปี 2555-2556
สำหรับแหล่งเงินทุน การบินไทยคาดว่าจะใช้เงินกู้ และ/หรือ เงินทุนหมุนเวียนของบริษัท เพื่อชำระค่าเช่าและค่าเครื่องบิน ซึ่งโครงการจัดหาเครื่องบินปี 2554-2560 จะทำให้มีการพัฒนาฝูงบินที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมการบิน สามารถพัฒนาฝูงบินในระยะยาวเพื่อสนับสนุนแผนการตลาดเชิงรุก โดยการขยายเครือข่ายการบินไห้เติบโตยิ่งขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้
นอกจากนี้ การจัดหาฝูงบินใหม่เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่ต้องปลดระวางจะทำให้ประหยัดน้ำมันและค่าซ่อมบำรุงเนื่องจากเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ที่ทำด้วยวัสดุผสม ซึ่งมีน้ำหนักเบาและไม่เป็นสนิม อีกทั้งจะช่วยลดค่าชดเชยในเรื่องของคาร์บอนเครดิตในน่านฟ้ายุโรป ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ 2555 และด้วยผลิตภัณฑ์ภายในเครื่องบินที่มีความทันสมัยและให้ความสะดวกสบายสูง
การบินไทย ยังคาดว่าจะสามารถสร้างกำไรได้สูงขึ้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมีสถานะการเงินที่มั่นคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาด พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างบริษัทให้เป็นสายการบินชั้นนำหนึ่งในสามของภูมิภาคเอเชีย และหนึ่งในห้าของโลก ทั้งด้านคุณภาพและประสิทธิภาพการบริการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการแปรรูปการบินไทย ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง มีแผนจะเสนอรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติแนวทางการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยลงจากที่ถืออยู่ 51% เนื่องจากการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่ต้องแข่งขันกับสายการบินต่างๆ ที่มีกว่า 150 สายการบินทั่วโลก ยังไม่รวมสายการบินต้นทุนต่ำอีกจำนวนมาก หากเทียบกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในไทย ก็ไม่ได้ไปแข่งขันกับสหรัฐฯ หรือยุโรป ที่ต้องแข่งกับเชลล์หรือเอ็กซอน
“ทุกวันนี้โลกของธุรกิจการบินมีการเปิดเสรีการบินกันหมดแล้ว สิทธิการบินแทบจะไม่มีความหมาย ใครจะบินไปไหนทำได้หมด คู่แข่งคือสายการบินชั้นนำของโลก แต่การบินไทยยังเป็นรัฐวิสาหกิจ และยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ต้องยึดกฎเกณฑ์ทั้ง 2 ด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างการบริหารที่ต้องดำเนินกฎเกณฑ์ความเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ทำให้ไม่มีความคล่องตัว”
ด้วยกฎเกณฑ์ทั้งสองด้านทำให้การจะทำอะไรเต็มไปด้วยเงื่อนไข ผ่านการพิจารณาหลายขั้นตอน จากทั้งกระทรวงคมนาคม หรือแม้แต่การจะจัดหาเครื่องบินใหม่ ปรับปรุงบริการต่างๆ ก็ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี การลงทุนหรือร่วมทุนกับใคร อย่างการจัดตั้งสายการบินไทยไทเกอร์ ก็ไม่สามารถดำเนินการเองได้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐ และยังเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยการวิ่งเต้นมากมาย การแทรกแซงจากข้างนอกและการเมือง และวัฒนธรรมองค์กรก็เข้ามามีส่วนร่วม ถึงวันนี้รัฐควรตระหนักว่าการบินไทยต้องชกกับสายการบินใหญ่อย่างแควนตัส, สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ดังนั้นเราจะแข่งกับคนอื่นๆ ได้ก็อย่ามามัดมือมัดเท้า
ส่วนการจะแปรรูปได้หรือไม่ เป็นเรื่องของรัฐที่ต้องกลับไปถามตัวเองว่าต้องการให้การบินไทยเป็นองค์กรที่เติบโตยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคตหรือเปล่า หรือถ้าไม่ต้องการแปรรูป ก็ต้องปรับวิธีการต่างๆ โดยอย่าแทรกแซงปล่อยให้บริษัทเกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ไม่เช่นนั้นในระยะยาวการบินไทยจะประสบปัญหา
“ที่ผ่านมาการปรับปรุงหรือจัดหาเครื่องบิน เต็มไปด้วยความล่าช้า เสียโอกาสทางธุรกิจ เช่นการจัดหาเครื่องบินสายการบินอื่นจะได้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ไปบริการ แต่การบินไทยกว่าจะดำเนินการได้ กลายเป็นการซื้อเครื่องบินที่เก่าไปแล้ว เพราะมีเจเนอเรชันมาใหม่อีก เนื่องจากตลาดเครื่องบินพลิกผันเร็วมาก จากตลาดของผู้ซื้อกลายเป็นตลาดของผู้ขายเมื่อดีมานด์มีเพิ่มขึ้น”
ดังนั้น การสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ต้องจองกันล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเพื่อรอคิวการผลิต แต่กว่าจะได้รับมอบก็ต้องรอเวลา เพราะมีสายการบินอื่นจองไปก่อน อย่างโบอิ้ง 787 กว่าจะผลิตลำแรกออกมาใช้บริการได้ก็ส่งมอบในปี 2561 เพราะการจะทำอะไรต้องขออนุมัติรัฐบาล เป็นเรื่องๆ ทำให้การดำเนินงานเกิดความล่าช้าและไม่ทันต่อการแข่งขันที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ท่ามกลางการแข่งขันของโลกการบินที่เกิดขึ้น สายการบินแห่งชาติของหลายประเทศมีทั้งหายไปและเหลือน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นสวิสแอร์ก็ถูกลุฟท์ฮันซ่าซื้อไป แอร์ฟรานซ์มีการไปรวมกับเคแอลเอ็ม ส่วนในเอเชียอย่างสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้สามารถแข่งขันกับโลกที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ยังต้องฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น
การบินไทยหลุดพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจได้หรือไม่ สิ่งแรกรัฐบาลต้องตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนว่าการบินไทยต้องแข่งขันกับโลก และอยู่รอดในระยะยาวเป็นสายการบินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และปัจจุบันรัฐบาลไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทยเหมือนในอดีตแล้ว เพราะได้แก้ไขเงื่อนไขเงินกู้เก่าๆ ไปหมดแล้ว ไม่ได้พึ่งพาภาครัฐในการหาเงินกู้แต่อย่างใด แต่หากยังจะให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ รัฐก็ควรมีการแก้กฎกติกาต่างๆ เพื่อให้บริษัทมีการบริหารจัดการที่คล่องตัวเพิ่มขึ้น