xs
xsm
sm
md
lg

อุ้มบัตรเงินสด ปลดแอก ดบ.28% ผู้ว่าแบงก์ชาติยันไม่กระทบแบงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังแถลงโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตลดดอกเบี้ยเหลือ 10% วงเงิน 3 แสนบาท ผ่อนไม่เกิน 3 ปี "ออมสิน-กรุงไทย-อิสลามแบงก์" รับลูก พร้อมเพิ่มวงเงินหากประชาชนแห่ร่วมโครงการเกิน 1 หมื่นล้าน “กรณ์” เล็งขยายเฟส 2 ผุดโปรเจกต์แก้หนี้บัตรเงินสดช่วยลูกหนี้นอนแบงก์จ่ายดอกหลังอาน 28% ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ไม่กระทบแบงก์เพราะมูลค่าจิ๊บๆ

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลลูกหนี้บัตรกดเงินสดที่ออกโดยสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่าผู้ถือบัตรเครดิตและส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ที่มีรายได้ไม่เข้าเกณฑ์การทำบัตรเครดิต จึงหลบหลีกมาใช้ช่องทางดังกล่าว

“บัตรกดเงินสดส่วนใหญ่ดอกเบี้ยจะสูงมากบางกรณีดอกเบี้ยสูงถึง 28% ประชาชนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับการดูแลต่อไปหลังจากที่กระทรวงการคลังได้ดูแลผู้ถือบัตรเครดิตให้ได้รับความเป็นธรรมแล้ว โดยหลังจากได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้วก็จะกำหนดเกณฑ์ กติกาและกรอบในการช่วยเหลือต่อไปคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้” นายกรณ์กล่าว

สำหรับโครงการลดภาระดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นความจำนงได้กับธนาคาร 3 แห่งคือ ธนาคารออมสิน ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.) หรือ iBank ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนจนถึง 30 สิงหาคม 2554

ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการจากธนาคารทั้ง 3 แห่งจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันคือต้องเป็นหนี้ที่มีสถานะปกติตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 ให้กู้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือนแต่ไม่เกิน 3 แสนบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 10% ระยะเวลาผ่อนชำระ 1-3 ปีขึ้นกับผู้กู้ กรณีที่ผู้กู้มีบัตรหลายใบ สามารถเลือกเก็บไว้ใช้ได้ 1 ใบ เพื่อให้หมุนเวียนได้ปกติ แต่ต้องมีหนังสือแสดงเจตจำนงกับธนาคารด้วยว่า จะไม่ก่อหนี้ภาระบัตรเครดิตใหม่อีกเป็นเวลา 1 ปี

”วัตถุประสงค์หลักของโครงการเพื่อผ่อนภาระดอกเบี้ยที่เคยจ่ายสูงถึง 20% ให้ลดลงมาครึ่งหนึ่งคือ 10% ดังนั้นหากทำให้ธนาคารพาณิชย์หันมาลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าที่กลุ่มลูกหนี้ที่ดี เพื่อดึงลูกค้าไว้ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ โดยไม่ต้องมาเข้าโครงการทั้งหมด ที่เราประเมินมีเพียงว่า น่าจะมีลูกหนี้ประมาณ 20% ของกลุ่มลูกหนี้ที่ผ่อนชำระขั้นต่ำประมาณ 5 หมื่นล้านบาทมาเข้าร่วมโครงการหรือประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่หากยังมีความต้องการเพิ่มธนาคารทั้ง 3 แห่งก็พร้อมที่จะเพิ่มวงเงินได้ เพราะเป็นการทำธุรกิจปกติของธนาคาร ไม่ได้มีผลต่อการชดเชยเงินจากรัฐบาล แต่เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินรัฐที่จะกระตุ้นและเติมในจุดที่ยังไม่เต็ม” นายกรณ์กล่าว

ส่วนข้อกังวลที่ธนาคารพาณิชย์จะหันไปเพิ่มค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพื่อชดเชยกับดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงมานั้นเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะกำกับดูแลการแข่งขันของระบบธนาคารพาณิชย์ให้เป็นธรรม ในส่วนของกระทรวงการคลังจะคอยตามดูว่ายังมีส่วนไหนที่ยังไม่เป็นธรรมกับลูกค้า ซึ่งไม่ได้กังวลกับประเด็นดังกล่าว เพราะหากแผนพัฒนาการเงินสำเร็จ จะทำให้การแข่งขันเข้มมากขึ้น ผลประโยชน์ก็จะตกกับประชาชนในทุกๆ เรื่อง เหมือนกรณีการโอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ซึ่งได้ข้อสรุปไปแล้วในเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนระหว่างธนาคารไม่ข้ามเขต ซึ่งธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างปรับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงขั้นที่ 2 ในการโอนข้ามธนาคารข้ามเขต ซึ่งจะดำเนินการได้ตามกรอบที่ตกลงไว้คือภายในเดือนมิถุนายนนี้

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า บัตรเครดิตในระบบทั้งหมดมีผู้ใช้ประมาณ 14 ล้านคน โดย 2 ล้านคนไม่มีหนี้ค้างชำระ และอีก 12 ล้านคนเป็นหนี้ปกติและในจำนวนนี้ มีหนี้วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาทต่อรายอยู่ 9.5 ล้านบัญชีคิดเป็นเงิน 1.5 แสนล้านบาท และมีการประมาณการว่า มีการผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% อยู่ประมาณ 35% หรือ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นเป้าหมายที่จะได้รับการช่วยเหลือ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงโครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลของธนาคารรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล ว่า เท่าที่พิจารณาวงเงินสินเชื่อในขณะนี้ที่รัฐบาลออกมาแล้ว ถือว่าเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งระบบและเป็นโครงการระยะสั้นที่ออกมาในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องพิจารณาดูว่า มีผลกระทบจริงมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าหรือไม่ถ้าจะมีการออกแคมเปญ หรือลดค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตเพื่อที่จะดึงลูกค้าไว้ในมือ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสามารถที่จะแยกแยะให้ลูกหนี้ที่เข้าในโครงการเป็นลูกหนี้ที่ดีและพร้อมที่จะชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง เพราะการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่ดี ที่ชำระเงินแน่นอนนั้น อัตราดอกเบี้ยที่คุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 5-6% เท่านั้น ขณะที่การปล่อยสินเชื่อทกับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะไม่ชำระหนี้ ความเสี่ยงอยู่ที่ 100% ต้องดูว่าอัตราดอกเบี้ยที่คุ้มทุนอยู่ที่เท่าไร

“ถ้าโครงการดังกล่าวแยกให้เข้าเฉพาะลูกหนี้ที่ดีได้จริง ไม่มีหนี้เสียเกิดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10% ก็ได้กำไร แต่ ธปท.ก็มีความเป็นห่วงต้นทุนที่เกิดขึ้นว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนเหล่านี้ ยอมรับว่าระบบการเงินไทยจะมีช่องว่างที่ยังไม่เท่าเทียมกัน รัฐบาลควรจะเข้ามาแทรกแซงได้บ้าง แต่ก็ต้องดูในเรื่องวินัยการเงินของประชาชน ไม่ให้ประชาชนเสียวินัยทางการเงิน” นายประสารกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น