THCOM เผยกำลังคัดเลือกผู้จัดสร้าง ดาวเทียมสำรองไทยคม 6 คาดลงทุนราว 100 ล้านดอลลาร์ หลังได้ไฟเขียวให้สร้างได้ในปี 56 หลังคำพิพากษา ชี้ ดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของไทยคม 5 ด้านไอซีทีเร่งสรุปสาเหตุ แสงอาทิตย์แรงสุดรอบ 11 ปี ทำไมดาวเทียมไทยคม 5 เดี้ยงเพียงดวงเดียว
นายธนฑิต เจริญจันทร์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการลงทุน บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการยิงดาวเทียมไทยคม 6 โดยระบุว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้เข้ามาจัดสร้าง แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า จะได้ข้อสรุปการเจรจากับภาครัฐได้เมื่อใด โดยเบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งจะมาจากกระแสเงินสดที่มีอยู่ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จำนวน 1.7 พันล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากเงินกู้ แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกหุ้นกู้
โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัท ไอพีสตาร์ ออสเตรเลีย พีทีวาย จำกัด(IPA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ THCOM ได้เซ็นสัญญากับบริษัท เอ็นบีเอ็น จำกัด (NBN) เพื่อให้บริการดาวเทียม (Interim Satellite Service) สำหรับโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติของออสเตรเลีย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.54 เป็นต้นไป สัญญานี้มีมูลค่าถึง 100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ส่วนกิจการของบริษัท ลาวเทเลคอม จำกัด ที่เตรียมจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นลาว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงกลาโหม นักวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เจ้าหน้าที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้น พบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจนทำให้ไม่สามารถให้บริการสัญญาณดาวเทียมได้ เนื่องจากพลังงานแสงดวงอาทิตย์สูงขึ้นมากสุดในรอบ 11 ปี จึงต้องนำข้อมูลเชิงลึกไปวิเคราะห์เพื่อทราบสาเหตุให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์สรุปความเสียหายดังกล่าว
ส่วนความเสียหายของช่องทีวีที่ไม่สามารถออกอากาศได้ ดาวเทียมไทยคมจะชดเชยตามเวลาที่ไม่ได้ออกอากาศ ส่วนข้อสังเกตว่า มีบุคคลยิงสัญญาณรบกวนนั้นยังไม่ตรวจพบว่าเรื่องดังกล่าว ขณะที่ภาครัฐคงไม่กระทำเช่นนั้น กรณีดังกล่าวจึงมีคำถามว่า แสงอาทิตย์แรงทำไมไม่กระทบกับดาวเทียมดวงอื่นให้เสียหาย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครยอมรับว่า คงไม่มีแรงจูงใจทำให้เกิดความเสียหาย เพราะดาวเทียมไทยคมจะเกิดความเสียหายอย่างมาก หากดำเนินการดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่ดาวเทียมไทยคม กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ไม่ได้มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้ทราบ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้ว จึงต้องการตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด
ส่วนกรณีการสร้างดาวเทียมไทยคม 6 ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยการให้จัดสร้างดาวเทียมขึ้นใหม่และยิงส่งขึ้นอวกาศ ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคเพื่อพิจารณาการจัดสร้าง จากนั้นจะส่งกลับไปยังคณะกรรมการตามมาตร 22 พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้บริษัทไทยคมจัดสร้างในปี 2556 เพื่อเป็นดาวเทียมสำรองไทยคม 5 เพราะคำพิพากษาระบุว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของไทยคม 5 ขณะนี้ ยังเหลืออายุสัมปทาน 8 ปี สิ้นสุดในปี 2564