xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. กล่าวโทษ "วิชัย" ทุจริต NIPPON เพิ่มเติม ขยายเวลาอายัดทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. กล่าวโทษ "วิชัย ชัยสถาพร" อดีตผู้บริหาร NIPPON เพิ่มเติม กรณีทุจริตต่อทรัพย์สินของบริษัท พร้อมสั่งขยายเวลาในการอายัดทรัพย์สิน ตามคำสั่งของศาลอาญา

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายวิชัย ชัยสถาพร อดีตประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทนิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) หรือ NIPPON เพิ่มเติมต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในความผิดฐานทุจริต ยักยอกทรัพย์สินบริษัทรวมเป็นเงินประมาณ 57.7 ล้านบาท และจัดทำเอกสารลงบัญชีเป็นเท็จ โดยพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2552 ถึงปี 2553 ซึ่งในขณะเกิดเหตุนายวิชัยเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทและได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของบริษัท ทั้งนี้ เป็นการกล่าวโทษเพิ่มเติมจากที่ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายวิชัยไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2553 กรณีทุจริต ยักยอกทรัพย์สินของบริษัท รวมเป็นเงินประมาณ 179.6 ล้านบาท

ก.ล.ต. ระบุว่า พฤติกรรมทุจริตที่ ก.ล.ต. ตรวจพบเพิ่มเติมส่วนหนึ่งมีลักษณะเดียวกับที่ตรวจพบในครั้งก่อน คือ นายวิชัยได้ปลอมแปลงเอกสารสั่งซื้อหลักทรัพย์ เพื่อลวงให้ NIPPON ชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีการซื้อหลักทรัพย์นั้นจริง แต่เป็นการทุจริตอำพรางเพื่อให้สามารถนำเงินของบริษัทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว คิดเป็นมูลค่า 37.7 ล้านบาท รวมทั้งนายวิชัยยังได้ใช้ชื่อบริษัทติดต่อขออนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นในนามบริษัทให้กับสถาบันการเงินนั้น แต่กลับนำเงินกู้ที่ได้รับไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ NIPPON ได้รับความเสียหายอีก 20 ล้านบาท

นอกจากนี้พบว่า เลขานุการบริษัท NIPPON ในขณะนั้น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท เป็นผู้พิมพ์และลงนามในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทเอง ทั้งที่รู้ว่าไม่ได้มีการประชุมจริง ทำให้นายวิชัยสามารถนำไปใช้ประกอบการกระทำการทุจริตได้ ก.ล.ต.จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวของเลขานุการบริษัทเข้าข่ายเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือนายวิชัยในการทุจริตด้วยหรือไม่

สำหรับการป้องกันการยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของนายวิชัย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของนายวิชัย ออกไปอีก 90 วัน จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2554 ซึ่ง ก.ล.ต. ได้แจ้งคำสั่งศาลอาญาดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามคำสั่งของศาลอาญาแล้ว อนึ่ง การกล่าวโทษเป็นจุดเริ่มต้นของการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งผู้ถูกกล่าวโทษยังมีสิทธิจะพิสูจน์การกระทำของตัวเองได้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น