xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้า” แนะรัฐกำหนดทิศทางนโยบายคลังให้ดี ห่วงกับดักช่วงสุญญากาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
นิด้า แนะรัฐบาลกำหนดทิศทางนโยบายการคลังให้ดี มีหลายปัญหาจ่อคิวท้าทาย ห่วงช่วงสุญญากาศ รบ.รักษาการ ต้องดูแล ศก.ตามกรอบที่ได้เสนอเข้าสภา หากมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง อาจมีเครื่องมือทางการคลังจำกัด

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า นโยบายการคลังในช่วงรอยต่อก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังรัฐบาลใหม่ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะรัฐบาลรักษาการจะต้องดำเนินการตามกรอบที่ได้เสนอเข้าสภาฯ ไปแล้วเท่านั้น ซึ่งหากมีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ก็จะมีเครื่องมือทางการคลังเพื่อจัดการได้น้อยลง

ขณะที่ร่างของกรอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 มูลค่า 2.25 ล้านล้านบาท ซึ่งได้มีการเสนอไปแล้วก็เป็นงบประมาณขาดดุลที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับถึง 3.5 แสนล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องระมัดระวังมากขึ้นในการก่อหนี้เพิ่มเติม เนื่องจากการที่มีงบประมาณรายจ่ายมากกว่างบประมาณรายรับอย่างต่อเนื่องหลายปีจะส่งผลต่อฐานะการคลังที่มีการขาดดุลงบประมาณทำให้ต้องเก็บภาษีเพิ่มในอนาคต

นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายกว่า 80% ก็ยังอยู่ในรูปของรายจ่ายประจำ เป็นเงินเดือนของข้าราชการราว 1.92 ล้านคน หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ทำให้มีงบรายจ่ายเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหลือไม่มาก ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะต่อไปได้

นายมนตรี กล่าวว่า ช่วงหลังยุบสภาไปแล้ว ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่ต้องรอผ่านวาระ 2 และ 3 ซึ่งปกติจะต้องเสร็จสิ้นในเดือนส.ค.ก็อาจะต้องยืดเวลาออกไป หากการเลือกตั้งมีปัญหาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ใน 3 เดือนนับแต่การยุบสภาคือประมาณเดือนส.ค. ก็อาจทำให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวล่าช้าไม่ทันประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ได้ ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ.มีปัญหาไม่สามาถผ่านสภาฯ ได้ก็จะต้องนำกรอบของปี 2554 มาใช้แทนก่อน ซึ่งก็จะเป็นงบประมาณรายจ่ายที่ไม่มากเท่าของปี 2555 และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้สะดุดได้

แต่ข้อดีก็คือ การที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายใหม่ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเชิงจิตวิทยา และเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจไปถึงปลายปีนี้ได้

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องจับตามอง คือ ในปีนี้จะมีอัตราเงินเฟ้อสูง และการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อลดลงได้ รวมถึงปัญหาวิกฤตในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ขณะที่ยุโรปยังทรงตัวหลังจากที่กรีซ, ไอร์แลนด์, โปรตุเกส ต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่อเมริกามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นบ้าง ซึ่งประเทศเหล่านี้จะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

นอกจากนั้นแล้ว จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ก็จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็จะมีผลต่อราคาปัจจัยการผลิตที่กระทบค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยที่จะมีการขึ้นเงินเดือน 5% สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำ ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ก็จะเป็นปัจจัยเสริมมาผสมทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้รุนแรงขึ้น ทำให้ ธปท.ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อแก้ปัญหาและส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเป็นปัญหาลูกโซ่

“ดังนั้น รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจึงต้องดูแลปัญหาข้าวของแพง รวมถึงต้องกระจายและจัดโครงสร้างการส่งออกให้ดีเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยต้องเน้นไปยังจีน อินเดีย และกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมาก และมีศักยภาพการเติบโตสูงเป็นเป้าหมายในการส่งออก”

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ อันมาจากการเติบโตที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากรายได้ประชากร แม้จะเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมากว่า 20 ปีแล้ว แต่นับวันจะมีช่องว่างมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนถือเป็นปัญหาระดับประเทศที่รัฐบาลใหม่ต้องรีบแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น