xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.จับตาบาทเฟด-EUขยับดบ.ยันไทยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติจับตาท่าทีเฟดขยับดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ-ยุโรปประชุมช่วง 1-2 วันนี้ เผยถ้ามีการปรับดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบตลาดภูมิภาค ทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินไม่เว้นเงินบาทไทย เผยเศรษฐกิจไทยไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะปรับนโยบายการคลังเข้าสู่ Normalization ตามนโยบายการเงิน เพื่อสร้างความสมดุล

น.ส.วงษ์วธู โพธิรัชต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เงินลงทุนเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่วิเคราะห์หรือคาดการณ์ค่อนข้างยากว่าจะเป็นเงินทุนไหลเข้ามาระยะสั้นหรือระยะกลาง เนื่องจากช่วงนี้นักลงทุนต่างรอดูความชัดเจนในตลาดหลักให้มากขึ้นโดยเฉพาะสัปดาห์นี้มีการประชุมของธนาคารกลางของประเทศขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศหลักได้ และอาจเชื่อมโยงมายังตลาดในภูมิภาคนี้และมีผลต่อค่าเงินบาทไทย

ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงไว้ที่ 4.75% เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.) และในวันที่ 7 เม.ย.นี้จะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษด้วย ทำให้ตลาดต่างจับตาดูถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจในระยะต่อไป ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลายตัวปรับตัวดีขึ้น แม้ปัญหาการว่างงานยังสูงอยู่แต่ในภาพรวมของภาคธุรกิจและบริการปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งมีผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บางคนที่มีมุมมองต่างกัน ทำให้ปัจจัยเหล่านี้ตลาดจับตาดูอยู่

“อย่าเพิ่งมั่นใจว่าเมื่อมีเงินทุนไหลเข้ามาแล้วจะอยู่ยาวๆ หรือจะอยู่แค่ช่วงสั้นๆ ก็ได้ เพราะเงินทุนไหลเข้าออกจากประเทศหลักมายังภูมิภาคเอเชียอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งการประชุมธนาคารกลางหลายแห่ง ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้นและท่าทีของประธานเฟดเริ่มแสดงความกังวลว่าจะต้องติดตามเงินเฟ้อใกล้ชิดมากขึ้น ต่างกับกรรมการบางคนห่วงเรื่องการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพัฒนาการเหล่านี้มีผลให้เงินทุนในตลาดหลักมายังตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่อาจการเปลี่ยนแปลงหรือผันผวนได้”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินทุนไหลเข้าออกไทยค่อนข้างสมดุล โดยมีเงินทุนต่างชาติเข้ามา ทำให้มีการขายเงินดอลลาร์และแลกเป็นเงินบาท ขณะเดียวกันมีความต้องการซื้อเงินดอลลาร์ทั้งในส่วนของผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทยและนักลงทุนไทยเริ่มทยอยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นตามแบบคำขอที่ยื่นมายังธปท.เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้เงินบาทมีการเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ อย่างไรก็ตาม ระยะต่อไปจะมีการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) มากขึ้นหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูและเมื่อใดก็ตามหากเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่สมดุล ธปท.ก็พร้อมเข้าไปดูแล

น.ส.วงษ์วธู กล่าวเพิ่มเติมว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ อยู่ในกรอบแคบๆ ประมาณ 30.20-30.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนับตั้งแต่ต้นปี 54 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่ไทยมีปัจจัยด้านดีมานส์และอุปทานที่ใกล้เคียงกันหรือสมดุลมากขึ้น แม้บางช่วงอาจไม่สมดุลบ้าง แต่เงินบาทไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวหรือแข็งค่าอย่างเดียวเหมือนในช่วง 3ไตรมาสแรกของปีก่อนจากแรงเทขายเงินดอลลาร์ออกมาจากฝั่งนักลงทุนต่างชาติและผู้ส่งออกไทย แต่ในปีนี้ผู้ส่งออกเริ่มบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

แนะนโยบายการคลังเข้าสู่ Normalization

นายทรงธรรม ปิ่นโต สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติแบบมีการไหลเข้าและไหลออกไปมามองว่ายังเป็นเรื่องปกติภายใต้ระบบเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรีและอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวของไทย ทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ก็ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี ซึ่งเศรษฐกิจยังคงเป็นไปตามที่ธปท.คาดการณ์ไว้เห็นได้จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจเบื้องต้นล่าสุดในเดือนมี.ค.แม้จะประสบปัญหาน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ และมองว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งภาคเอกชนไทยมีการพึ่งพาตัวเองค่อนข้างมากทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามนอกจากนโยบายการเงินที่ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ(Normalization) แล้วมองว่ามาตรการหรือนโยบายด้านเศรษบกิจ รวมถึงนโยบายการคลังก็ควรปรับเข้าสู่ Normalization เช่นกัน เพื่อสร้างความสมดุลให้แก่ระบบเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น