"PTTEP" เผยแผน 10 ปี ทุ่มเงิน 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขุดเจาะ-สำรวจ รวมถึงผลิตปิโตรเลียม เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจในอนาคต โดยตั้งเป้าปี 63 จะมีขายปิโตรเลียมได้ 9 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่วนโครงการขนาดใหญ่จะใช้ผลประกอบการ "EBITDA" และนำเงินที่เหลือจากการจ่ายปันผลมาลงทุน ซึ่งหากขาดอีกจำนวนเท่าไรก็จะระดมทุนทางอื่นต่อไป
วันนี้ (24 ก.พ.) นายพิชัย ชุณหวชิร กรรมการและประธานคณะกรรมการพิจารณาความเสี่ยง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า บริษัทกำหนดแผน 10 ปี (2553-2563) ต้องใช้เงินลงทุนราว 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาขุดเจาะและสำรวจ รวมถึงผลิตปิโตรเลียม ทั้งในรูปแบบของการลงทุนเอง การร่วมทุน การเข้าซื้อกิจการ
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายว่าในปี 63 จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียม 9 แสนบาร์เรล/วัน จากปี 54 ที่มีเป้าหมายปริมาณการขาย 2.73 แสนบาร์เรล/วัน และเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมใน 10 ปี เป็น 3 พันล้านบาร์เรล จากปัจจุบันที่ 1.1 พันล้านบาร์เรล
นายพิชัย กล่าวต่อว่า การลงทุนขนาดใหญ่ของ PTTEP จะมาจากผลประกอบการที่บริษัทมี EBITDA เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยจะนำเงินที่เหลือจากการจ่ายเงินปันผลมาใช้ในการลงทุน ซึ่งจากที่ได้พิจารณาแล้วยังขาดเงินลงทุนอีก 1-2 หมื่นล้านเหรียญที่จะนำมาใช้ตามแผนงาน
อย่างไรก็ตาม มีหลายแนวทางที่จะระดมเงิน การเพิ่มทุนก็เป็นการทางเลือกหนึ่ง หากบริษัทได้แหล่งที่มีขนาดใหญ่มากและสามารถสรุปการเจรจาได้อย่างรวดเร็วก็จำเป็นต้องใช้วิธีการเพิ่มทุนเป็นทางเลือก โดยหากจะเกิดขึ้นทาง PTTEP จะต้องมีการพิจารณาแผนการระดมเงินที่ชัดเจน เนื่องจากหากใช้วิธีการเพิ่มทุนจะส่งผลต่อบมจ.ปตท. (PTT) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 65% ก็จะต้องพิจารณาว่าจะคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเอาไว้หรือไม่ หากจะคงรักษาสัดส่วนไว้ PTT เองก็ต้องใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามา เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นด้วย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการหารือร่วมกัน
"ตอนนี้ ปตท.สผ.มาถูกทางแล้วหลังจากที่ได้มอนทาร่า และ oilsand ที่แคนาดามา ถือว่าเป็นการลงทุนที่จะทำให้ได้ผลตามเป้าหมาย ว่าจะมีปริมาณการขายในปี 2063 คิดเป็น 9 แสนบาร์เรล และยังคงต้องหาแหล่งใหม่ๆ เพิ่มเติม ดังนั้นการใช้เงินและการระดมเงิน การหาแหล่งเงินถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยการเพิ่มทุนก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน"นายพิชัย กล่าว