“โฆสิต” ชี้ ปีนี้แบงก์พาณิชย์งัดแคมเปญแข่งดุ หลังสภาพคล่องในระบบปรับตัวลดลงอันเนื่องมาจากสินเชื่อเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมองว่า GDP อาจโต 4-5% ส่วน “ธ.กรุงเทพ” ตั้งเป้าสินเชื่อรวมราว 6-8% พร้อมหนุนสินเชื่อ SME และเดินเครื่องปั๊มสินเชื่อทุกภาคส่วน หลังมองความต้องการเงินทุนหมุนเวียนกระฉูด
วันนี้ (17 ก.พ.) นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อทุกกลุ่ม ทั้งสินเชื่อรายใหญ่ SME และรายย่อย รวมทั้งมองว่าจะมีความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ส่วน Real Investment ก็ยังอยู่ในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อทั้งในส่วนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในมาบตาพุด
นอกจากนี้ ปีนี้จะเริ่มเห็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมาแข่งขันระดมเงินฝากมากขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องในระบบเริ่มปรับตัวลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการที่สินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มองว่าปีนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโต 4-5%
ทั้งนี้ BBL มีฐานเงินฝากอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 80% ซึ่งสภาพคล่องส่วนเกินขณะนี้ค่อยๆปรับลดลงต่อเนื่องทำให้ต้องเตรียมการสำหรับการเพิ่มฐานเงินฝาก แม้สภาพคล่องโดยรวมของธนาคารจะยังอยู่ในระดับที่แข็งแรงดีก็ตาม
นายโฆสิต กล่าวต่อว่า การที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะเริ่มมีผลในการคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาทในเดือนสิงหาคมนี้ และจะลดลงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท ในปีหน้าว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการแข่งขันระดมเงินฝากเท่านั้นแต่มองว่าปัจจุบันสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็งและมีความสามารถที่จะรองรับการเติบโตได้อย่างไม่จำกัด
สำหรับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น เชื่อว่าในระยะถัดไปการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามทันทีจากก่อนหน้านี้ที่จะทิ้งช่วงเวลาหนึ่งก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม โดยทาง ธปท.จะติดตามการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์เพื่อไม่ให้เกิดการเร่งตัวในการเติบโตของสินเชื่อในระบบเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาฟองสบู่ และส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อด้วย
ด้าน นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL เปิดเผยว่าปี 2554 ตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโต 6-8% จากเมื่อต้นเดือนมกราคม ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตประมาณ 5-7% เท่านั้น โดยสินเชื่อผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อม (SME) เติบโต 8%ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่การที่อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นไม่มากจึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการแต่อย่างไร แต่การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นนั้นทางธนาคารจะเริ่มทยอยออกโครงการพิเศษๆ เข้ามาช่วยเหลือและรองรับความต้องการแก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน