“โทลล์เวย์” จ่อแต่งตัวเข้าตลาดหุ้น หวังเทรดไม่เกินเดือน ต.ค.นี้ คาดโกยรายได้ 1.70 พันล้านบาท เข้ากระเป๋า ส่วนกำไรมีลุ้นแตะ 450-500 ล้านบาท โดยรับเศรษฐกิจฟื้นทำให้อุปทานโต จึงเล็งประมูลส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ ช่วงดอนเมือง-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขณะที่ คืบหน้าขายหุ้นกู้ 7 พันล้านบาท สำเร็จด้วยดี มีเงินนำใช้หนี้
วันนี้ (1 ก.พ.) นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมการเรื่องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยเสนอคณะกรรมการบริษัทให้พิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งหากทุกอย่างลุล่วงก็จะดำเนินการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินต่อไป
ทั้งนี้ เบื้องต้นกำหนดไว้ให้ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาเรื่องในประเทศและบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นฝ่ายต่างประเทศ เพื่อดำเนินการศึกษารายละเอียดต่างๆ เช่น จำนวนหุ้นสามัญที่จะเสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไป (IPO) ซึ่งมองว่าจะได้ความชัดเจนเดือนเมษายน 2554 และน่าจะสามารถเข้าเทรดได้ไม่เกินตุลาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนและทุนที่ชำระแล้ว จำนวน 5.40 พันล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น แบ่งเป็น กลุ่มพานิชชีวะ 37.05%, กองทุน AIF Toll Road Holding (Thailand) Limited ราว 29.45%, กระทรวงการคลัง 25.10% โดยเงินที่ได้จากการขาย IPO จะนำมาใช้ลงทุนธุรกิจไฟฟ้าหรือธุรกิจอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอหรือให้ผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างต่ำ 14% ต่อปีขณะที่อายุสัมปทานโทลล์เวย์ขณะนี้เหลืออยู่ราว 25 ปี หรือหมดอายุในวันที่ 11 กันยายน ปี 2577
“เรายังไม่ได้สรุปว่าจะออกหุ้นใหม่หรือขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมาหรือเปล่า ซึ่งหากเลือกได้ไม่อยากขาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับกฎของตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งเรายังอยู่ระหว่างศึกษาเรื่องการตั้งกองอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ ซึ่งทางกระทรวงการคลังเองก็สนใจเช่นกัน แต่ยังติดกฎหมายด้านภาษีที่ต้องรอแก้ไขก่อน” นายธานินทร์ กล่าว
สำหรับผลประกอบการในปี 2554 บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ระดับ 1.70 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่คาดทำได้ราว 1.50 พันล้านบาท และมีกำไรระดับ 450-500 ล้านบาทเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับจำนวนรถยนต์ที่ขยับเพิ่มในระดับสูง จึงเชื่อน่าจะทำให้ปริมาณการใช้ทางเติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรถยนต์ใช้ทางเฉลี่ย 5.00 หมื่นคันต่อวัน
นอกจากนี้ ทางบริษัทมีแนวคิดเข้าร่วมประมูลส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ช่วงดอนเมือง-ธรรมศาสตร์รังสิต-บางปะอิน ระยะทางรวม 20 กิโลเมตรแบ่ง 2 เฟส โดยขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องปริมาณการจราจรและความต้องการใช้ทางอยู่ เนื่องจากผลสรุปดังกล่าวจะเป็นตัวชี้วัดความคุ้มค่าของเงินลงทุนที่สูงถึง 1.00 พันล้านบาทต่อกิโลเมตร หรือคิดเป็นเงินราว 2.00 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละเฟสใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปีครึ่ง เพื่อเสริมรายรับของธุรกิจ ซึ่งคาดได้ข้อสรุปภายใน 2 ปี
ขณะที่เรื่องการเสนอขายหุ้นกู้วงเงินรวม 7 พันล้านบาท ซึ่งมีอายุหุ้นกู้ 3-10 ปี และมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นกู้นั้นพบว่านักลงทุนสถาบันให้การตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในตัวธุรกิจ โดยเงินที่ได้ในครั้งนี้จะนำไปรีไฟแนนซ์หนี้