บอร์ด “บินไทย” อนุมัติยุทธศาสตร์ 7 ปี วางกลยุทธ์เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน จัดซื้อเครื่องบินใหม่ 37 ลำ ปลดทิ้งเครื่องเก่า 46 ลำ พร้อมหาสินเชื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมอีก 7,000 ล้านบาทของ “ธ.ออมสิน” และ 1,000 ล้านบาทของ “ธ.ซีไอเอ็มบี”
วันนี้ (14 ม.ค.) บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ของบริษัท รวมทั้งแผนดำเนินงาน และแผนการลงทุน ปี 2554-2560 ดังนี้ กลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทในปี 2554 จะเน้นที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Building Competitive Edge) หลังจากที่บริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งให้กับองค์กร (Build Solid Foundation) ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโต (Capture Growth Opportunities) ในช่วงต่อไป
ทั้งนี้ กลยุทธ์หลัก 9 ด้าน ประกอบด้วย กลยุทธ์กลุ่มธุรกิจองค์กร กลยุทธ์การสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า กลยุทธ์เครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบิน กลยุทธ์การตลาดและการขาย กลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม กลยุทธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ กลยุทธ์ด้านประสิทธิภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการบริหารเชื้อเพลิง กลยุทธ์ด้านเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารบุคลากรและโครงสร้างองค์กร และกลยุทธ์ด้านการเงิน โดยทุกกลยุทธ์จะมีแผนดำเนินงานสนับสนุนและมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
สำหรับในส่วนของแผนการปรับเปลี่ยนฝูงบินให้ทันสมัย ในระหว่างปี 2554-2560 ประกอบด้วย แผนดังนี้ แผนการปลดระวางเครื่องบินเก่า รวมจำนวน 46 ลำ, แผนการรับมอบเครื่องบินใหม่ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว จำนวน 26 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส 330-300 จำนวน 12 ลำ เครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 8 ลำ และเครื่องบินแอร์บัส 380-800 จำนวน 6 ลำ และ แผนจัดหาเครื่องบินใหม่เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่จะปลดระวาง และเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ จำนวน 37 ลำ
ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2560 บริษัทจะมีเครื่องบินในฝูงบิน จำนวน 105 ลำ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีฝูงบินที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงและการซ่อมบำรุงลดลง รวมทั้งอัตราการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์และเป้าหมายการดำเนินการและการเงินระยะยาว บริษัทจะมีอัตราการการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม หรือประมาณ ร้อยละ 5 ต่อปี การเติบโตของรายได้จากการดำเนินงานในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7-10 ต่อปี ขณะเดียวกัน ก็ต้องบริหารค่าใช้จ่ายโดยควบคุมอัตราการเพิ่มของค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่ไม่รวมเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อรักษาความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยมีผลการดำเนินงานและอัตราการทำกำไรที่ดี
นอกจากนี้ รวมทั้งรักษาสัดส่วนภาระหนี้และกระแสเงินสดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายสัดส่วนเงินสด (หรือเครดิตพร้อมเบิกใช้) ต่อรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2 เท่าตลอดแผน
พร้อมกันนั้น คณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้บริษัทดำเนินการจัดหาวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมจากธนาคารออมสินจำนวน 7,000 ล้านบาท และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำนวน 1,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่เสนอ