xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีทีถก2 เม.ย.ขยายผลยึดทรัพย์ คาดไม่ยกเลิกสัญญาซ้ำรอยไอทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไอซีทีเตรียมสรุปวิธีการประเมินความเสียหาย ขยายผลคดียึดทรัพย์ทักษิณ วันที่ 2 เม.ย.นี้ เผยการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีอันต้องล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่วางไว้ 30 วัน เพราะเอกสารเกี่ยวข้องมีจำนวนมาก แย้มไม่มีการยกเลิกสัญญาซ้ำรอยไอทีวีแน่นอน

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการแก้สัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมไทยคมตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่าในวันที่ 2 เม.ย.นี้คณะกรรมการฯรวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยในการประชุมครั้งนี้คาดว่าจะหาข้อสรุปเรื่องวิธีการประเมินมูลค่าความเสียหายได้

ทั้งนี้ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีที ตรวจสอบการแก้ไขสัญญาดาวเทียมไทยคม บริษัท ทีโอที ตรวจสอบการแก้ไขสัญญา บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม ตรวจสอบกรณีโรมมิ่ง บริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) ถึงมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของแต่ละหน่วยงานเพื่อส่งมาให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณา

อย่างไรก็ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ 30 วันที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนมี.ค. นั้น คณะกรรมการชุดนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเนื่องจากเอกสารมีจำนวนมาก ต้องใช้เวลาตรวจสอบนับตั้งแต่สัญญาเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2534ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือ 2-3 ครั้งใน 4 ประเด็นหลักที่ต้องตรวจสอบ คือ 1. เรื่องการแปลงส่วนแบ่งสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต 2.การลดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินเอไอเอสเหลือ 20% จนหมดอายุสัมปทานจากเดิมเป็นอัตราก้าวหน้า 25-30% 3. การเปิดโรมมิ่งสัญญาณของดีพีซี และ 4. กรณีสัมปทานดาวเทียม การยิงดาวเทียมไทยคม 4 ไอพีสตาร์ เป็นไปตามสัญญาหรือไม่

สำหรับความผิดในส่วนของบุคคลนั้นทางคณะกรรมการชุดนี้ได้ประสานไปยังคณะกรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เพื่อดูแลทางอาญา ขณะที่ไอซีทีจะดูทางแพ่ง และการเอาผิดด้านวินัยกับบุคคลหรือข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว

'หากกระบวนการสิ้นสุดก็เชื่อว่าสัญญาสัมปทานจะยังคงดำเนินต่อไปไม่ล้มเลิกเหมือนเช่น กรณีไอทีวี ในอดีตอย่างแน่นอน'พ.ต.อ.สุชาติกล่าว

****ประชุมร่วมญี่ปุ่น

ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที กล่าวว่า ไอซีทีได้จัดการประชุมอาเซียน – ญี่ปุ่นว่าด้วยนโยบายความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 29 -31 มีนาคม 2553โดยมีเป้าหมายพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในเดือน พ.ย.2553ที่ประเทศมาเลเซียต่อไป

'ปัจจุบันอาชญากรได้ใช้ไอทีและคอมพิวเตอร์เพื่อกระทำผิดมีจำนวนมาก อาทิ การฟอกเงิน ดังนั้นการร่วมมือเพื่อทำโครงสร้างที่รองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยความร่วมมือครั้งนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่นได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ด้านนโยบายความมั่นคงสารสนเทศ'
กำลังโหลดความคิดเห็น