รมว.อุตฯ เตรียมแผนช่วยผู้ประกอบการภาคเอกชน หลังผลกระทบการเมืองยืดเยื้อ-ค่าเงินบาทแข็ง เล็งเสนอเงินกู้ ดบ.ต่ำ เข้าที่ประชุม กกร.เร็วๆ นี้ วอนเสื้อแดงยุติ-หยุดทำลาย ศก.ไทย “บีโอไอ” คาด การเมืองกระทบจิตวิทยาลงทุน แต่นักลงทุนต่างชาติยังมั่นใจ โดยยังคงเป้าลงทุนปี 53 เอาไว้ที่ 5 แสนล้านบาท พร้อมวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุนในต่างประเทศ
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทยได้หารือกัน เพื่อเตรียมแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชน ในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะมีการสรุปแนวทางที่ชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ในเร็วๆ นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า รัฐบาลยังคงเป้าหมายยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2553 เอาไว้ที่ระดับ 5 แสนล้านบาทเท่าเดิม แม้จะมีวิกฤตทางการเมือง เนื่องจากตรงนี้ถือว่าเป็นคนละส่วนกับภาคธุรกิจ แต่ต้องไม่มีการปิดเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งสนามบิน ท่าเรือ และโลจิสติกส์
“กรณีเงินบาทแข็งค่านั้น รัฐบาลประเมินว่าเป็นการแข็งค่าในระดับปานกลาง ไม่น่าวิตก โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้แล้ว ทั้งมาตรการลดต้นทุนทางด้านภาษี และต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังขอความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทยให้ช่วยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษแก่ผู้ประกอนการอุตสาหกรรม”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมองว่า สถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ ยังไม่สุกงอม แต่สิ่งที่อยากขอร้องกลุ่มผู้ชุมนุม คือ อย่าทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหาย ในส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) เป็นมิตรกับทุกพรรค แต่ต้องการให้การชุมนุมยุติโดยเร็ว เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าอย่างราบรื่น
ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้าลงทุนในประเทศไทย ในช่วง 2 เดือนแรกนั้น สูงกว่า 70,000 ล้านบาท และจะไม่ปรับลดเป้าหมายในปีนี้ที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวในงานสัมมนา “การลงทุนไทยในต่างประเทศ วิกฤต โอกาส และความเป็นไปได้ของนักลงทุนไทย” ประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ภาคธุรกิจไทยขนาดใหญ่ ก็เริ่มหันไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยมีเงินลงทุนในต่างประเทศเพียงกว่าหมื่นล้านบาท ในอนาคตเชื่อว่าจะมีการขับเคลื่อนมากขึ้น
เลขาธิการฯ บีโอไอ กล่าวเสริมว่า การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น แม้จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนักลงทุนบ้าง แต่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ยังมีนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งบีโอไอได้ขยายมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการใหม่ๆ โดยเพิ่มประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมการลงทุน และยังเชื่อมั่นว่าภาพรวมทั้งปีนี้จะนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมาย
ส่วนการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักธุรกิจไทยนั้น ตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มียอดรวมประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นตัวเลขยังไม่สูงมากนัก และกระจุกตัวเฉพาะรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด โดยประเทศที่นักธุรกิจไทยออกไปลงทุนมากขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย แอฟริกา และ อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าไทยยังมีศักยภาพออกไปลงทุนมากกว่านี้ในสาขาที่ไทยแข็งแกร่ง
สำหรับโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ขนาดเล็กมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) ภายในประเทศนั้น ผู้ผลิตทั้ง 6 ค่ายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ยังคงเดินหน้าโครงการตามแผน และยังไม่มีรายใดประกาศถอนการลงทุน ซึ่งล่าสุด ค่ายรถยนต์นิสสันเปิดตัวไปแล้วเมื่อ 12 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ส่วนอีก 5 รายจะมีรถยนต์ออกสู่ตลาดในช่วงต่อไป
นางอรรชกา กล่าวว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศสะสมของนักลงทุนไทยระหว่างปี 2523-2551 พบว่า มีมูลค่า 10,857 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ของจีดีพี โดยการลงทุนของไทยในสหภาพพม่ามีมูลค่าสูงสุด 7,391.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือ จีน 3,186.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลาว 1,581.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนาม 1,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดีย 831 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศในปัจจุบัน บีโอไอได้ให้บริการข้อมูล และให้คำปรึกษาแนะนำนักธุรกิจไทยที่สนใจจะไปลงทุนในต่างประเทศ และจัดตั้งหน่วยงานย่อย (Country Desk) ดูแลรับผิดชอบโดยตรง นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาการสร้างเครือข่ายภาครัฐและเอกชนแนะนำคู่ค้าและผู้ร่วมลงทุน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2550–2552) บีโอไอได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศด้วยการพาคณะนักธุรกิจไทยไปดูลู่ทางการลงทุนในประเทศกัมพูชา พม่า เวียดนาม ลาว จีน ไต้หวัน และอินเดีย รวมจำนวนกว่า 50 ครั้ง
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ประกอบด้วย มาตรการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย คือ การให้บริการข้อมูล การให้สินเชื่อระยะยาว การให้สินเชื่อธุรกิจก่อสร้าง และการรับประกันความเสี่ยง มาตรการของกระทรวงการคลัง คือ การเว้นการเก็บภาษีซ้อน กองทุนความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนมาตรการของกระทรวงต่างประเทศ คือ การคุ้มครองการลงทุน การอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำ การช่วยเหลือด้านวิชาการ และมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ ระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยน มาตรการการเคลื่อนย้ายเงินตราต่างประเทศ
ปัจจุบันนโยบายส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศถือเป็นยุทธศาสตร์ของบีโอไอ และได้จัดตั้งหน่วยงานย่อยรับผิดชอบดูแลการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศโดยตรง นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาและกำหนดยุทธศาสตร์ พร้อมกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรถาวร และรับผิดชอบงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ