xs
xsm
sm
md
lg

คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 53 โต 4% หลังสัญญาณ ศก.ฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนพ.คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าปีนี้โต 4% หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยช่วงพีคของปีจะอยู่ที่ 4-5% ส่วนยอกการใช้ไฟในเดือน ม.ค.ที่พุ่งขึ้น 21% เนื่องจากฐานในปีก่อนต่ำมาก เตรียมปรับปรุงแผนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตใหม่ พร้อมปรับเพิ่มการคำนวณ โดยนำค่าเอฟที และอุณหภูมิของประเทศ เข้ามาศึกษาด้วย



นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยในงานสัมมนา “การศึกษาแบบจำลองการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคต” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (E for E) โดยระบุว่า กระทรวงพลังงานได้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4% จากปีก่อน ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในกรอบ 3.5% แต่หากเศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าระดับดังกล่าว ก็จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ส่วนกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) แจ้งตัวเลขการใช้ไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2553 ที่สูงถึง 21% เนื่องจากฐานในปีก่อนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% จากปีก่อนที่ระดับประมาณ 22,000 เมกกะวัตต์

ทั้งนี้ สนพ.ได้มีการปรับปรุงแผนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตใหม่ โดยจะปรับเพิ่มการคำนวณใหม่ ซึ่งจะนำค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (เอฟที) อุณหภูมิของประเทศเข้ามาศึกษาด้วย จากเดิมที่ใช้ข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าในอดีต และตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเป้าหมายในการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตและการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ในปี 2553-2573 ให้เสร็จภายในปีนี้

“การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่แน่ชัดในด้านปัจจัยธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า และการผลิตรถไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีผลต่อยอดการใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น”

ดังนั้น ภายใน 3 ปีข้างหน้า การคำนวณพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าน่าจะมีความสมบรูณ์มากขึ้นได้ แต่เบื้องต้นต้องทราบความชัดเจนด้านอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ที่มอบหมายให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้จัดทำ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในเดือนมีนาคม 2553 นี้ จากนั้นต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อนประกาศเป็นจีดีพีของประเทศ ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น