ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยผลสำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 ของคนกรุงเทพฯ” โดยคาดการณ์ว่ากิจกรรมต่างๆ ในปีนี้ ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดประมาณ 19,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% โดยแบ่งงเป็น ตลาดสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ แจกอั่งเปา กิจกรรมนอกบ้านในกรุงเทพฯ คนกรุงเที่ยวในประเทศ และทัวร์ต่างประเทศ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยระบุว่า นับเป็นเทศกาลจับจ่ายครั้งใหญ่ประจำทุกปีของผู้บริโภคคนไทยเชื้อสายจีน และบรรดาลูกจ้างของร้านค้า รวมถึงสถานประกอบการที่มีเจ้าของเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีเม็ดเงินสะพัดในแต่ละปี นับเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 ของคนกรุงเทพฯ” โดยในปีนี้ได้ทำการสำรวจเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 18-31 มกราคม 2553 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 455 คน เน้นสัมภาษณ์เฉพาะ “ตัวแทนของครอบครัว” ที่ไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ คาดการณ์ว่ากิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในปีนี้ประมาณ 19,600 ล้านบาท เทียบกับเทศกาลตรุษจีนในปี 2552 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 โดยแยกเม็ดเงินสะพัดตามกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
ตลาดสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ : เม็ดเงินสะพัดในกทม. 4,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้เฉลี่ยประมาณครัวเรือนละ 3,450 บาท เมื่อคำนวณการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้โดยรวมของคนกรุงเทพฯที่มีเชื้อสายจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 นี้คาดว่าจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 4,900 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2552 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ทั้งนี้คาดว่าจำนวนครัวเรือนที่จะซื้อเครื่องเซ่นไหว้ยังคงใกล้เคียงกับในปี 2552 เนื่องจากเป็นประเพณีที่ชาวจีนยังคงยึดถือ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในปีนี้เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น แหล่งซื้อเครื่องเซ่นไหว้ จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.6 ยังคงนิยมซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้จากร้านค้าในตลาดสดใกล้บ้าน รองลงมา คือ ร้อยละ 29.4 นิยมซื้อจากร้านค้าย่านตลาดเก่าเยาวราช ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าดั้งเดิมของชาวจีนในกรุงเทพฯ เพราะเป็นแหล่งรวมสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ที่มีอย่างหลากหลาย และมีให้เลือกครบทุกประเภท ร้อยละ 21.5 นิยมซื้อจากร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัย คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตและซูปเปอร์สโตร์ และที่เหลือร้อยละ 0.5 จะเลือกซื้อเครื่องเซ่นไหว้จากหลายแหล่งประกอบกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเลือกซื้อเครื่องเซ่นไหว้จากร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัยนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจุดแข็งของร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัยคือ ความสะดวกในการเดินทาง ความพร้อมของที่จอดรถ ความสะอาดของสถานที่จำหน่ายสินค้า ราคาสินค้า และความครบครันของสินค้า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องคุณภาพของสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกแหล่งซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ตรุษจีนของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งบรรดาร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัยต่างปรับตัวรองรับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆเพื่อเพิ่มยอดขาย ทำให้สามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดสินค้าเครื่องเซ่นไหว้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัยบางแห่งขยายตลาดเฉพาะกลุ่มซึ่งมีกำลังซื้อสูง ด้วยการจัดชุดเครื่องเซ่นไหว้ที่ถูกต้องตามประเพณีดั้งเดิมของชาวจีน สนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่มาก ซึ่งไม่มีญาติผู้ใหญ่ที่จัดชุดเครื่องเซ่นไหว้ให้ แต่ต้องการปฏิบัติตามตามประเพณีดั้งเดิมเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว และความเจริญรุ่งเรืองของกิจการ นอกจากนี้ ในปีนี้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ยังมีกลยุทธ์การตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เน้นสร้างความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินในกระเป๋า และประหยัดเวลาในการจับจ่ายซื้อสินค้า
แจกอั่งเปา : เม็ดเงินสะพัด 7,400 ล้านบาทศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจปี 2553 มีดังนี้ -ปัจจัยที่มีอิทธิพลในการแจกอั่งเปา ภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแจกอั่งเปาถึงร้อยละ 47.1 กล่าวคือ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวนี้ทำให้เม็ดเงินสะพัดในการแจกอั่งเปานั้นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา กอปรกับราคาทองรูปพรรณที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลตรุษจีนในปี 2552 ทำให้ผู้ที่แจกอั่งเปาหันมาแจกอั่งเปาเป็นเงินสดมากขึ้น -การตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนปี 2553 คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.2 ตั้งงบประมาณเท่ากับปีที่แล้ว ร้อยละ 15.1 ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และร้อยละ 14.7 ตั้งงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว ประเด็นที่น่าสนใจที่สำรวจพบคือ ผู้แจกอั่งเปาบางส่วนอาจจะลดจำนวนเงินหรือน้ำหนักทองลงเล็กน้อย กล่าวคือ ในปี 2553 น้ำหนักทองรูปพรรณที่เป็นอั่งเปาจะอยู่ที่ 1 สลึงมากขึ้น ในขณะที่ในปีที่ผ่านมาน้ำหนักทองรูปพรรณที่เป็นอั่งเปาจะอยู่ที่ 1 สลึงและ 2 สลึง สำหรับในส่วนที่ลดลงคือ การแจกอั่งเปาลูกจ้างที่เปลี่ยนจากการแจกทองมาเป็นการให้เงินสด หรือลดจำนวนเงินที่ให้ลง นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่วางแผนจะแจกอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนปี 2553 นี้ตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปา(รวมทั้งเงินสดและทองรูปพรรณ)อยู่ที่เฉลี่ยคนละ 6,000 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านอั่งเปาเฉลี่ยคนละ 5,800 บาท เนื่องจากราคาทองรูปพรรณที่เพิ่มขึ้น ทำให้โดยรวมแล้วมีเม็ดเงินอั่งเปาสะพัดในกรุงเทพฯประมาณ 7,400 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
กิจกรรมนอกบ้านในกทม.ช่วงเทศกาลตรุษจีน : สร้างเม็ดเงินสะพัด 2,100 ล้านบาท ศูนย์วิจัยสำรวจพบว่าในช่วงตรุษจีนปี 2553 งบประมาณสำหรับกิจกรรมนอกบ้านและเดินทางท่องเที่ยวเช้าไปเย็นกลับในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้อยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณคนละ 1,100 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 1,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เม็ดเงินเหล่านี้สะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และสวนสนุก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องกังวลคือ สถานการณ์ความวุ่นวายในทางการเมืองที่อาจจะทำให้บรรดากลุ่มตัวอย่างที่จะทำกิจกรรมในกรุงเทพฯเปลี่ยนใจหันไปอยู่กับบ้านแทนการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน บรรดาห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในกรุงเทพฯต่างจัดรายการส่งเสริมการขายหลากหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดลูกค้ามาร่วมกิจกรรม และกระตุ้นการจับจ่ายซื้อสินค้าของลูกค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยการจัดกิจกรรมไปพร้อมกับวันวาเลนไทน์ ขณะที่ห้องอาหารและภัตตาคารชั้นนำทั้งหลายในกรุงเทพฯต่างจัดรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากสร้างสีสันดึงดูดลูกค้าด้วยการตกแต่งสถานที่ให้เข้ากับบรรยากาศเทศกาลตรุษจีน เช่น การจัดเมนูพิเศษที่มีชื่อเป็นมงคลไว้บริการลูกค้ากลุ่มครอบครัว เพิ่มบริการส่งถึงบ้านเพื่อสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรับประทานอาหารในหมู่ญาติพี่น้องที่บ้านสำหรับคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ แหล่งท่องเที่ยวที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างนิยมเดินทางไปในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 นี้ ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ไม่สูงมากนัก ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเล เช่น พัทยา บางแสน ชะอำ และหัวหิน แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีวัดที่มีชื่อเสียง ได้แก่ นนทบุรี(วัดบรมราชากาญจนาภิเษกหรือวัดเล่งเน่ยยี่ 2) นครปฐม(พระปฐมเจดีย์ และวัดไร่ขิง) สุพรรณบุรี(วัดไผ่ล้อม) พระนครศรีอยุธยา(วัดมงคลบพิธ วัด พนัญเชิง วัดใหญ่ชัยมงคล) สระบุรี(วัดพระพุทธบาท) ฉะเชิงเทรา (วัดโสธรวรารามวรวิหาร) เป็นต้น นอกจากนั้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะตลาดที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นตลาดน้ำวัดดอนหวาย ตลาดร้อยปีอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
คนกรุงฯเที่ยวในประเทศ : เม็ดเงินสะพัด 3,600 ล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดแบบค้างคืน ต่างมีโปรแกรมแวะทำบุญไหว้พระตามวัดและศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีการจัดงานฉลองเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต นครสวรรค์ หาดใหญ่ อุดรธานี เป็นต้น โดยส่วนใหญ่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นการขับรถไปเที่ยวกันเอง อย่างไรก็ตาม บางกลุ่มก็ยังนิยมใช้บริการบริษัทนำเที่ยว โดยโปรแกรมท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงเทศกาลตรุษจีนคือ การไหว้พระ 9 วัด คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงตรุษจีนเฉลี่ยคนละ 4,400 บาท ซึ่งลักษณะพิเศษของการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีน คือ ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ แต่จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนใกล้เคียงกับผู้ที่ท่องเที่ยวแบบค้างคืน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มจากเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ คาดว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 ของคนกรุงเทพฯก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 3,600 ล้านบาท เมื่อกับเทศกาลตรุษจีนในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เนื่องจากคาดว่าจำนวนคนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่นักเดินทางท่องเที่ยวก็ยังใช้นโยบายท่องเที่ยวแบบประหยัด รวมทั้งบรรดาสถานบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่างมีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ต้องการเพิ่มยอดจำนวนนักท่องเที่ยว
ทัวร์นอกช่วงตรุษจีน : เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ 1,600 ล้านบาท การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 นี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ทั้งจำนวนคนที่เดินทาง และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน เนื่องจากในปี 2552 นั้นเทศกาลตรุษจีนอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งใกล้กับเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี และเพิ่งจะผ่านพ้นปัญหาการปิดสนามบินในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2551 นอกจากนี้ ในปีนี้บรรดาบริษัทท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจัดการส่งเสริมการขายโดยเน้นการลดราคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว คนที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีน ส่วนใหญ่เป็นบรรดาผู้ประกอบการร้านค้าที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนในช่วงตรุษจีนเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีนนั้นนับว่าได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากค่าใช้จ่ายจะไม่แพงมากนักแล้ว ยังเป็นโอกาสของการได้ไปเยี่ยมญาติและจับจ่ายซื้อของหรือช็อปปิ้งอีกด้วย นอกจากนี้ ลาวและเวียดนามก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยเช่นกัน งบประมาณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงตรุษจีนอยู่ที่เฉลี่ยประมาณคนละ 32,000 บาท ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางที่ต้องการจะไปท่องเที่ยว และจำนวนวันที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว การท่องเที่ยวต่างประเทศก่อให้เกิดการรั่วไหลของเงินตราออกนอกประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้สุรปว่า ภาพรวมการใช้จ่ายในเทศกาลตรุษจีนปี 2553 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นประเพณีความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนที่จะต้องไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษเพื่อรับกับปีใหม่ โดยเฉพาะเพื่อให้การค้าในปีใหม่เจริญรุ่งเรือง และรับโชคลาภในปีใหม่ ดังนั้น คนไทยเชื้อสายจีนที่ยังยึดถือประเพณีการไหว้เจ้าก็ยังคงมีการไหว้เจ้าในช่วงตรุษจีนต่อไป และแม้ว่าเครื่องเซ่นรวมทั้งของไหว้อื่นๆจะมีราคาแพงขึ้น ทำให้เม็ดเงินสะพัดจากค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ในปีนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่เม็ดเงินสะพัดในการแจกอั่งเปาใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยผู้แจกอั่งเปาหันไปแจกในรูปของเงินสดแทนการแจกทองรูปพรรณ เนื่องจากราคาทองที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงตรุษจีนปีที่ผ่านมา ซึ่งเม็ดเงินอั่งเปานี้ก่อให้เกิดเงินสะพัดในการทำกิจกรรมนอกบ้าน การท่องเที่ยวทั้งในแบบเช้าไปเย็นกลับ และการท่องเที่ยวแบบค้างคืน ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วก็มีภาพที่ดีกว่า เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องการปิดสนามบิน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังต้องกังวล คือ สถานการณ์ความวุ่นวายที่อาจจะทำให้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งอาจส่งผลให้เม็ดเงินสะพัดในช่วงตรุษจีนปีนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้