xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.โชว์ 5 แผนงานรับปี 53 เปิดเสรีเชื่อม ตปท.-ปรับปรุง กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยอดไอพีโอลด แถมไซส์บริษัทใหม่หดตัวฉุดผลดำเนินงานก.ล.ต.ปี2552 ขาดทุน 10 ล้าน เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีหรือนับตั้งแต่ก่อตั้ง “ชาลี”เล็งปีหน้า ปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมต่างๆใหม่ให้เหมาะสม ส่วนแผนงานปี2553 ชู 5 ด้านสำคัญที่ต้องพัฒนาตลาดทุนไทย ตั้งแต่การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เปิดเสรีการแข่งขัน ผลักดันและสนับสนุนสินค้าใหม่ ปรับปรุงกฎหมาย ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ภาพรวมปีนี้พบค่าเปรียบเทียบปรับพุ่งแตะ 74 ล้าน

นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ผลประกอบการในปี 2552 จะมีผลขาดทุน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนปีแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งก.ล.ต.ในปี 2535 หรือขาดทุนในรอบ 17 ปี เนื่องจาก มีบริษัทเข้ามายื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง)เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)ลดลง จากภาวะตลาดไม่ดี จึงทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมในการยื่นไฟลิ่งซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของก.ล.ต.ลดลงไปด้วย ประกอบกับบริษัทจะขายหุ้นไอพีโอในช่วงหลังนั้นมีมูลค่าการระดมทุนไม่มาก โดยก.ล.ต.คิดค่าธรรมเนียมดังกล่าวอัตรา0.8%ของมูลค่าระดมทุน

นอกจากนี้กำไรจากการลงทุนของก.ล.ต.ปีนี้ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 50% เพราะ การลงทุนของก.ล.ต.มีการลงทุนในหุ้นมีสัดส่วนที่ต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้มากกว่า และแม้ผลตอบแทนการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ ก.ล.ต.ยังไม่รับรู้กำไรจากการลงทุน เพราะ ยังไม่ได้มีการขายออกไป

ทั้งนี้จากการที่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีบริษัทเข้ามายื่นไฟลิ่งในการขายไอพีโอ ลดลงและเป็นบริษัทขนาดเล็กทำให้มูลค่าการะดมทุนในช่วงหลังๆก็ไม่มากนัก ซึ่ง ก.ล.ต.ได้มีการปรับลดค่าใช้จ่ายของก.ล.ต. โดยมีการลดเงินเดือนของตำแหน่งระดับผู้ช่วยขึ้นไป และมีการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้น้อยกว่างบประมาณที่ทางฝ่ายบริหารของก.ล.ต.จัดสรรมาให้ แต่ก.ล.ต.ไม่มีโครงการที่จะให้พนักงานเกษียรก่อนอายุ

นายชาลี กล่าวว่า ในปี2553 บริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนนั้นคงไม่มาก ก.ล.ต.จึงมีแผนที่จะมีการทบทวนในการเก็บค่าธรรมเนียมในการยื่นขอเสนอขายสินค้าต่างๆให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เป็นระดับเดียวกับต่างประเทศมีการจัดเก็บเพราะ ในอนาคตตลาดทุนก็จะมีการเปิดกว้างมากขึ้นสามารถซื้อขายระหว่างกันได้ โดยหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศค่าธรรมเนียมบางอย่างยังมีอัตราการเก็บที่ต่ำ และหากส่วนใดที่มีการเก็บที่สูงก็จะมีการปรับลดลง

นอกจากนี้การเก็บค่าธรรมเนียมก็จะมีการเก็บให้ตรงกับผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการเสนอขายสินค้าที่แท้จริง เพราะ ที่ผ่านมาก.ล.ต.อาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมยังไม่ตรงกับกลุ่ม และก.ล.ต.จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้มีสินค้าใหม่ๆเกิดขึ้นในตลาดทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมตลาดทุนทำให้โบรกเกอร์มีรายได้มากขึ้น และจะส่งผลดีต่อก.ล.ต.ในด้านรายได้เช่นกัน

อนึ่งในปี 2551 ก.ล.ต.มีกำไรจำนวน 145.56 ล้านบาท ซึ่งมีรายได้จากค่าธรรมเนียมจำนวน 445.79 ล้านบาท รายได้จากการให้บริการข้อมูล 3.75 แสนบาท รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 3.69 แสนบาท รายได้จากเงินลงทุน 122.78 ล้านบาท รายได้เงินอุดหนุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ 170.87 ล้านบาท และรายได้อื่นๆอีก 4.06 ล้านบาท ทำให้มีรายได้รวม 744.26 ล้านบาท แต่ก.ล.ต.มีค่าใช้จ่ายรวม 598.70 ล้านบาท

**เปิดแผนพัฒนาตลาดทุนปี 53

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงแผนงานของ ก.ล.ต. ในปี 2553ว่ามีเป้าหมายให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันได้ ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงสินค้าการลงทุนและกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ส่วนผู้ประกอบการมีเครื่องมือการระดมทุนตามที่ต้องการโดย กฎเกณฑ์ต่างๆ เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจและได้มาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่การแข่งขันระหว่างตลาดทุนข้ามประเทศ ทั้งที่เป็นตลาดหลักทรัพย์รูปแบบดั้งเดิมและตลาดหลักทรัพย์ทางเลือก (Alternative Trading System: ATS) กระตุ้นให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยต้องปรับตัวเพื่อการแข่งขัน รวมทั้งวิกฤติการณ์ทางการเงินที่ได้ให้บทเรียนอันนำไปสู่แนวโน้มของการกำกับดูแลที่จะต้องมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องไม่ขัดขวางการริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

อีกทั้งในการกำหนดแผนงาน ก.ล.ต. ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ปี 2553-2557 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยมีวิสัยทัศน์ให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกหลักในการรวบรวม จัดสรร และติดตามการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

โดย แผนงานของ ก.ล.ต. ในปี 2553 กำหนดไว้ 5 ด้าน คือ 1. เชื่อมโยงกับต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ในวงอาเซียนและนอกวงอาเซียน โดยในวงอาเซียน จะมีเรื่อง ASEAN asset class ซึ่งตัวอย่างที่ได้มีภาคเอกชนดำเนินการแล้ว เช่น ASEAN ETFs และ ASEAN scale credit rating และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ได้แก่ เริ่มนำ ASEAN disclosure standard ของหุ้นและตราสารหนี้มาใช้เพื่อความสะดวกในการเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศโดยไม่ต้องทำหนังสือชี้ชวนหลายชุด โครงการ ASEAN Common Exchange Gateway&ASEAN Board ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนเพื่อความสะดวกของผู้ลงทุนจากทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงได้จากจุดเดียว (single point of entry) โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในไตรมาสแรกของปี 2554 และการร่วมกับตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ในอาเซียนจัดทำ ASEAN listing standard โดยคาดว่าตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนจะเริ่มใช้ได้ภายในปี 2554-2555

สำหรับนอกวงอาเซียน เป็นเรื่องการเปิดให้ลงทุนในต่างประเทศ และการเปิดให้สินค้าต่างประเทศมาขายในไทยได้มากขึ้นในรูปแบบต่างๆ เช่น foreign listing และ foreign ETF เป็นต้น โดยระยะแรกผ่านตัวกลางในประเทศ และต่อมาอาจให้บริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศสามารถให้บริการข้ามประเทศได้สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน

2.เปิดเสรีการแข่งขัน เดินหน้าเสนอแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์เพื่อยกเลิกการผูกขาดของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเปิดให้มีคู่แข่งอื่นได้เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ยกเลิกการจำกัดสิทธิการซื้อขายไว้เฉพาะบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทย และแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งเปิดเสรีใบอนุญาตประกอบธุรกิจและค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

3.ผลักดันและสนับสนุนนวัตกรรม สินค้าใหม่ที่ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยและ ก.ล.ต. มีแผนจะผลักดันให้เกิดในปี 2553 ได้แก่ infrastructure fund, sukuk, interest rate futures, venture capital, gold Exchange Traded Fund 4.ปรับปรุงการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย เน้นความสำคัญของการมีระบบติดตามที่ทันการณ์ สร้างความมั่นคงของบล.และมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น การดำรงเงินกองทุน การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน ให้เพียงพอรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ในการเพิ่มกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุน ก.ล.ต. จะเดินหน้าผลักดันกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) เพื่อเพิ่มสิทธิผู้ลงทุนโดยไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องเอง รวมทั้งจะผลักดันมาตรการทางแพ่ง เพื่อให้สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว นอกจากนี้ จะเพิ่มบทบาทของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยให้เป็นที่พึ่งของผู้ลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตนเองมากขึ้นโดยเน้นมาตรฐานจรรยาบรรณและการมีบทลงโทษ ในส่วนของการกำกับดูแล จะเน้นกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจแบบ outcome focused เพื่อให้มีความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ ลดความเสี่ยงจากการใช้ดุลพินิจ

สุดท้าย 5.ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุนให้แก่ประชาชนตามแผนการให้ความรู้ผู้ลงทุนที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบและเหมาะสม

**ภาพรวมปี 52 ค่าปรับพุ่งยอด IPO ลด

สำหรับ ภาพรวมผลดำเนินงานของก.ล.ต.ตั้งแต่ต้นปีจนถึงพ.ย.2552 พบว่า ได้มีการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุน ในลักษณะการเสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO)จำนวน 14 รายการ น้อยกว่าเมื่อปี 2551 ซึ่งมีการอนุญาตถึง 21 รายกาาร โดยมีมูลค่าการเสนอขายตราสารทุนรวมทั้งสิ้น 9,632 ล้านบาท ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่า 29,097 ล้านบาท

ขณะเดียวกันมีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการและเพื่อออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 15บริษัท รวมมูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 22,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มี 11 บริษัท มูลค่า 16,759 ล้านบาท มีการบังคับใช้กฏหมายลงโทษทางบริหารกับผู้ติดต่อผู้ลงทุน โดยภาคทัณฑ์ 6 ราย สั่งพัก 9 ราย เพิกถอนความเห็นชอบ 7 ราย ส่วนผู้สอบบัญชีมีการสั่งพักงาน 1 ราย

ด้านการดำเนินคดีอาญาเปรียบเทียบปรับมีทั้งสิ้น 75 ข้อหา จำนวน 50 ราย จำนวนเงินค่าปรับ 74.981 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าปี 2551 ซึ่งมี 67 ข้อหา จำนวน 38 ราย รวมเป็นเงินค่าปรับ 8.134 ล้านบาท และมีการกล่าวโทษ 9 คดี จำนวน 33 ราย เช่นเดียวกัยปี 2551

ส่วนการรับเรื่องร้องเรียนในปี 2552 พบว่ามีการรับเรื่องร้องเรียนกรณีปั่นหุ้น แพร่ข่าวอินไซด์ 34 เรื่อง การประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาต 30 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การตลาด 18 เรื่อง รวม 82 เรื่อง โดยมีจำนวนเรื่องที่ยุติหรือส่งต่อให้หน่วยงานอื่นดำเนินการต่อไปแล้ว 70 เรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น