xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.เร่งฟ้อง2บจ. เอส.อี.ซี.-ปิคนิค อายัดทรัพย์วืดยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต.หวัง ดีเอสไอ ส่งฟ้องคดีเอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ -ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ทันก่อนครบกำหนดอายัดทรัพย์บุคคลที่เกี่ยวข้องในต้นปีหน้า เหตุไม่สามารถต่อเวลาอายัดทรัพย์ได้อีกหลังจากขยายเวลาอายัดมาแล้ว 2 ครั้ง พร้อมส่งหนังสือเร่งให้ดำเนินการเป็นระยะๆ จากขณะนี้คดียังไม่คืบหน้า หลังส่งข้อมูลให้ครบถ้วนแล้ว ด้านกระทรวงคลัง แจง อยู่ระหว่างจัดทีมศึกษาจัดเก็บภาษีนิติบุคคลทั้งระบบ เพื่อออกเป็นมาตรการระยะยาวให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

นายประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.อยากให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ยื่นฟ้องคดีบริษัท เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)หรือ SECC และบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ PICNI โดยเร็ว ก่อนที่จะครบระยะเวลาอายัดทรัพย์ เนื่องจากที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ขอให้มีการขยายเวลาอายัดทรัพย์ของทั้ง2 บริษัทมาแล้วจำนวน 2 ครั้งแล้ว ทำให้ไม่สามารถที่จะขยายเวลาอายัดทรัพย์ได้อีก

ทั้งนี้บมจ. เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ฯ จะครบกำหนดอายัดทรัพย์ในเดือนมกราคม 2553 ส่วนบมจ. ปิคนิค คอร์ปอเรชั่นฯจะครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2553 โดยหากดีเอสไอยื่นฟ้องไม่ทันนั้น จะต้องมีการคืนทรัพย์ที่อายัดไว้กลับคืน ซึ่งที่ผ่านมาก.ล.ต.ได้มีการทำหนังสือถึงดีเอสไอ เป็นระยะๆในการขอให้เร่งดำเนินการส่งฟ้อง จากที่ผ่านมาก.ล.ต.ได้มีการส่งข้อมูลเกี่ยวกับคดีของทั้ง 2 บริษัทแก่ดีเอสไอ ครบถ้วนแล้ว แต่หากดีเอสไอมีการส่งฟ้องได้ทันกำหนดเวลาจะทำให้สามารถอายัดทรัพย์ได้ต่อไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

“จากที่ก.ล.ต.ได้มีการขอให้อายัดทรัพย์ของ SECC และPICNI จำนวน 2 ครั้งแล้ว ซึ่งจะครบกำหนดในต้นปีหน้า ทำให้ไม่สามารถขออายัดทรัพย์ได้อีกเป็นครั้งที่3 ซึ่งหากดีเอสไอ มีการสั่งฟ้องไม่ทันก็ทำให้ต้องคืนทรัพย์ที่ยึดไว้ แต่หากยื่นฟ้องต่อศาลทันทรัพย์ก็จะถูกอายัดต่ำไปอัตโนมัติ ซึ่งเราอยากให้ทางดีเอสไอมีการทำคดีโดยเร็ว แต่ขณะนี้ดีเอสไอก็ยังไม่ได้มีการส่งฟ้อง โดยก.ล.ต.ได้มีการส่งหนังสือสอบถามไปถึงดีเอสไอเป็นระยะๆ”นายประสงค์ กล่าว

สำหรับคดีของเอส.อี.ซี. ออโต้ เซลส์ ฯ ศาลอาญามีคำสั่งขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สิน รวม 5 ราย คือ นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ นางสาวนิภาพร คมกล้า นายกฤช เอกมงคลการ บริษัทแอปเปิล กรุ๊ป จำกัด และ บริษัทคิว อาร์ ออโต้ คาร์ จำกัด กรณีทุจริตยักยอกทรัพย์สินของ SECC โดยการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จในการสั่งซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริง เพื่อเป็นเหตุอำพรางให้ SECC ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริงนั้นเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่น ทำให้ SECC ได้รับความเสียหายจำนวนมาก

ส่วนคดี บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ฯนั้นศาลอาญาได้มีการสั่งอายัดทรัพย์สินรวม 12 ราย ประกอบด้วย นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน นายสุเทพ อัคควุฒิไกร นายภาณุวรรษ เลิศวิเศษ นางสาวศศิธร วุฒิรุ่งเรืองสกุล บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด นางวันดี โตเจริญ นางสาวลักขณา แสวงหา หรือนางลักขณา มือห์เลชไตน์ บริษัท สีลมแพลนเนอร์ จำกัด นายสนทยา น้อยเจริญ นายธรรมนูญ ทองลือ หม่อมหลวงชัยภัทร ชยางกูร และนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ กรณีร่วมกันทุจริตยักยอกทรัพย์สินของ บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่นฯ

**คลังตั้งทีมศึกษามาตรภาษีระยะยาว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดตั้งทีมขึ้นมาเพื่อศึกษาถึงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งระบบ เพื่อให้ออกเป็นมาตรการระยะยาวไม่ใช่เป็นมาตรการระยะสั้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าหากจัดทำเป็นระยะยาวจะช่วยให้ความสามารถการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น และให้อยู่ในอัตราที่แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย

ทั้งนี้การศึกษาถึงโครงสร้างภาษีนิติบุคคลดังกล่าว มีการหยิบยกประเด็นที่ว่า อาจสามารถลดภาระให้เอกชนด้วยการลดค่าในส่วนการจัดเก็บค่าบริหารภาษี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวคิดเช่นกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางการ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาทางการได้รับข้อมูลจากหลายฝ่ายเช่น ประมาณต้นเดือนธ.ค.ทางกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เข้ามาหารือเรื่องดังกล่าวกับกระทรวงการคลังแล้ว

นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลจากชมรมเอ็มเอไอซีอีโอขอให้ลดภาษีสำหรับบริษัทจดทะเบียนในเอ็มเอไอ ในอัตรา 20% ตลอดไป เพราะเห็นว่าเมื่อบจ.เข้าจดทะเบียนทำให้การจัดเก็บมีมาตรฐานและจ่ายภาษีให้รัฐได้มากกว่าก่อนจะเข้าจดทะเบียน

“สิ่งที่ทางการศึกษาอยู่คือการออกมาตรการทางภาษีที่เหมาะสมควรจะเป็นมาตรการระยะยาวหรือไม่ เพราะทางเอกชนให้ข้อมูลว่าหากออกเป็นมาตรการชั่วคราวเหมือนที่ผ่านมานั้นไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนได้ การศึกษานี้ยังครอบคลุมไปถึงการให้สิทธิภาษีที่เอกชนได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ด้วย และกรณีที่ว่าควรจะมีความแตกต่างการจัดเก็บภาษีระหว่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นกับบริษัทนอกตลาดหุ้นหรือไม่”แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับอัตราภาษีนิติบุคคลประเทศไทย 30% เวียดนามมีอัตราการเก็บ 25% สิงคโปร์อยู่ที่ 18% มาเลเซียอยู่ที่ 25% อินโดนีเซียอยู่ที่ 28% บรูไน ที่ 30% พม่า 30% ฟิลลิปปินส์ 30%

นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานชมรมเอ็มเอไอซีอีโอ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ตัวแทนชมรมได้เข้าพบกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง ซึ่งมีสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อตกลงบางประการซึ่งทางชมรมฯ จะนำเข้าไปหารือกับสมาชิกในวันที่ 16 ธ.ค. นี้โดยหากทางการจะให้สิทธิประโยชน์ภาษีในไตรมาส 2 / 2553 ทางชมรมเห็นว่ายังทันต่อการคำนวน เพราะสามารถจัดเก็บย้อนหลังได้
กำลังโหลดความคิดเห็น