xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ SME โวผลงานเยี่ยม ฟุ้งปีหน้าล้างขาดทุนเกลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอสเอ็มอีแบงก์โว ผลดำเนินงานปี 52ดีเยี่ยมตั้งแต่ก่อตั้งหลังปรับโครงสร้างใหม่เริ่มมีกำไรโผล่ให้เห็น คาดปีหน้าล้างขาดทุนสะสมเกลี้ยงหลังบักโกรกจากตั้งสำรองบัตรเงินฝากเอฟอาร์ซีดี ลุยแก้ปัญหาเอ็นพีแอลเต็มที่แยกเป็น 3 กองจ้างมืออาชีพบริหารแบ่งกำไรกันตามสัดส่วน

นายวิชญะ วิถีธรรม โฆษก ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ในปี 53 ธพว. จะใช้นโยบายเชิงรุก โดยวางเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกประเภท 60,000 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ หลังจากปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ และให้ความมั่นใจกับพนักงานว่าจะเดินหน้าต่อไปด้วยกัน ไม่ปิดธนาคารแน่นอน ดังนั้นให้ร่วมใจกันทำงานเป็นทีม อย่ามัวแต่วิตกว่าทำอะไรแล้วจะโดนสอบสวน ขอให้ยึดความถูกต้องเป็นหลัก พร้อมทั้งกระจายอำนาจทำงานให้สาขามากขึ้นในการหาลูกค้ารายใหญ่เข้ามา ส่งผลให้แต่ละสาขามีลูกค้ารายใหญ่เพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่สาขาไม่ได้เน้นหาลูกค้ารายใหญ่เลย

ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ธพว.ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 39,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากปี 51 ที่ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 8,000 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในรอบ 7 ปี ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ธพว.เริ่มมีกำไรเฉลี่ยเดือนละ 30-40 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ทะลุเป้าหมาย 43,000 ล้านบาท และปีหน้าจะทำให้ธนาคารล้างขาดทุนสะสมและเริ่มมีผลกำไรด้วย

“การทำแบงก์ ต้องไปเป็นพอร์ต ไม่ใช่แค่ลูกค้าไม่กี่ราย เมื่อทั้งสาขาและสำนักงานใหญ่เดินไปด้วยกัน ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลงด้วยโดยเหลือเพียง 1,000 ล้านบาทต่อปี ทั้ง ๆ ที่เรามีพอร์ตสินเชื่อใหญ่ขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าผลการดำเนินงานในปี 52 นี้ ถือว่าดีที่สุดในรอบ 7 ปีที่ก่อตั้งธนาคารขึ้นมา แม้ว่าจะยังล้างขาดทุนสะสมไม่หมด แต่เชื่อว่าในปี 53 จะสามารถกลบขาดทุนสะสมจากการดำเนินงานช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้ ซึ่งรายการหนัก มาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจากการตกลงทำสัญญาออกตราสารบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (เอฟอาร์ซีดี)กว่า 2,000 ล้านบาท”

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็ปรับลดลงด้วย คาดว่าสิ้นปีนี้จะเหลือ 22,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากต้นปีที่ผ่านมาจาก 50% เหลือ 40% แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมาจากการที่มีพอร์ตสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันไม่ได้มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ขณะนี้ธพว.มีแผนที่จะแก้ปัญหาเอ็นพีแอลอย่างจริงจังมากขึ้น และให้เป็นงานหลักอย่างหนึ่งในแผนงานปี 53 ด้วย โดยกำลังแยกเอ็นพีแอลตามคุณภาพออกเป็น 3 กอง คือ หนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีกว่า 4,000 รายการ รวมมูลหนี้ 1,000 ล้านบาทเศษ ที่จะว่าจ้างบริษัทบริหารหนี้มืออาชีพรับไปจัดการโดยใช้วิธีแบ่งผลกำไร (โฟร์ฟิตแชร์ริ่ง) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในสิ้นปีนี้

“ส่วนอีก 2 กองที่เหลือ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า คือ หนี้ที่มีหลักประกัน แต่มีหนี้สภาพค่อนข้างแย่ ซึ่งมี 2,000 ราย ซึ่งขณะนี้ยังคัดแยกไม่แล้วเสร็จ สุดท้ายคือหนี้ที่มีสภาพดี มีศักยภาพ มีหลักประกัน ซึ่งคาดว่าจะมีถึง 50% ของเอ็นพีแอลทั้งหมด ทั้งนี้ยอมรับว่าการแก้เอ็นพีแอลกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จะคิดแค่ว่ายึดหลักประกันหากไม่มีเงินชำระคืนไม่ได้ ต้องมีความยืดหยุ่น เพราะเสน่ห์ของหนี้เอสเอ็มอีนี้คือ การตายง่าย และฟื้นง่ายเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเราช่วยให้เอสเอ็มอีเหล่านี้ฟื้นตัวได้เร็ว เราก็จะฟื้นตัวได้เร็วด้วยเช่นกัน จากเดิมที่ปีก่อนๆ เราแทบจะล้ม แต่ปีนี้เราเริ่มยืนได้แล้ว และปีหน้าเป็นต้นไปจะเริ่มเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง”
กำลังโหลดความคิดเห็น