ธปท.เร่งรวบรวมข้อมูลคดีเก่าสุดอื้อฉาว "แบงก์บีบีซี" ประเมินเบื้องต้นมีไม่ต่ำกว่า 20 คดี ความเสียงหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท พร้อมหนุนให้ดำเนินคดี "ราเกซ" ระบุ คดีส่วนใหญ่ยังไม่หมดอายุความ ส่วนแนวทางการฟ้องร้องคดีอาญาจะมีการฟ้องร้องทางแพ่งควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ชดเชยค่าเสียหาย
นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. พร้อมสนับสนุนพยานบุคคลเบิกความในการฟ้องร้องดำเนินคดี และเอกสารหลักฐานให้แก่อัยการและตำรวจในการดำเนินคดีอาญาและแพ่ง กับนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯ พณิชยการ (บีบีซี) ซึ่งถูกนำตัวกลับมาดำเนินคดีในไทยคืนนี้
นายชาญชัย กล่าวว่า ธปท.กำลังรวบรวมจำนวนคดี และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบีบีซี เบื้องต้นประเมินว่า มีไม่ต่ำกว่า 20 คดี มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งคดีส่วนใหญ่ยังไม่หมดอายุความ โดยในการฟ้องร้องคดีอาญาจะมีการฟ้องร้องทางแพ่งควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ชดเชยค่าเสียหาย แต่ยอมรับว่า คดีอาญาต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี กว่าคดีจะสิ้นสุด
โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้สนับสนุนข้อมูลให้แก่พนักงานสอบสวนอย่างเต็มที่ เพราะ ธปท. เป็นผู้ฟ้องดำเนินคดีกับ นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี ในคดี ซิตี้ เทรดดิ้ง ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษนายเกริกเกียรติไปแล้ว และคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์
นายชาญชัย ยืนยันว่า ปัจจุบันการตรวจสอบการทำงานของธนาคารพาณิชย์ มีความเข้มงวดและได้มาตรฐานระดับสากล โดยนอกจากจะมีการตรวจสอบจาก ธปท. แล้ว ในแต่ละธนาคารยังมีการตรวจสอบภายในจากผู้ถือหุ้นด้วย นอกจากนี้ ภาครัฐยังเข้มงวดในเรื่องธรรมาภิบาลของผู้บริหาร ทำให้โอกาสเกิดการทุจริตเป็นไปได้ยาก จึงเชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยกรณี บีบีซี ขึ้นอีก
ส่วนความคืบหน้าคดี นายปิ่น จักกะพาก อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ในคดียักยอกทรัพย์และความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ปี 2522 วงเงินความเสียหาย 2,127 ล้านบาทนั้น ศาลอุทธรณ์อังกฤษพิพากษาให้นายปิ่น พ้นจากความควบคุมตัวในคดีที่ทางการไทยขอให้ส่งตัวกลับประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้น หนทางเดียวที่จะดำเนินคดีกับนายปิ่นได้ จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปจับกุมตัวนายปิ่นในอังกฤษ