ในบทความที่ผ่านๆมา เราเคยพูดถึงการลงทุนที่ดีและได้ผลระยะยาวมาแล้วว่า การกระจายความเสี่ยงโดยการเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลายๆรูปแบบหรือการจัดพอร์ตการลงทุน จะช่วยให้เราสามารถบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงได้ตามที่เราต้องการ แน่นอนว่าทองคำก็เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ถูกเลือกใช้ในการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี หากแต่นักลงทุนแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ในระดับที่ต่างกัน และผลตอบแทนที่ต้องการก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นวิธีเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนและสัดส่วนที่จะลงทุนในแต่ละอันของนักลงทุนแต่ละคนนั้นก็จะต่างกัน
นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ก็จะมีขั้นตอนพื้นฐานที่คล้ายกัน ก็คือขั้นตอนแรก ต้องวางนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง เช่น เหมาะสมในเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ เหมาะสมกับระยะเวลาที่ตัวเองต้องการสอดคล้องกับสภาพคล่องของนักลงทุน ใครที่เงินเย็นหรือมีระยะเวลาการลงทุนนานกว่าคนอื่นๆ ก็สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้เพิ่มมากขึ้น ผลตอบแทนก็จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าตามไปด้วย
ขั้นตอนต่อมาคือ การคัดสรรสินทรัพย์ที่จะใช้ในการกระจายความเสี่ยง ซึ่งในขั้นตอนนี้เราจำเป็นต้องรู้จักว่าสินทรัพย์ใด สภาพตลาดจะเป็นอย่างไร ในช่วงภาวะแบบไหนหรือในช่วงเวลาใด สินทรัพย์แต่ละตัวมีวัฏจักรขึ้นลงแตกต่างกัน เช่นช่วงใดของปีเหมาะกับการปลูกข้าว หรือช่วงดอกเบี้ยต่ำสินทรัพย์ใดบ้างหรือธุรกิจใดบ้างจะได้ผลดีจากการที่ดอกเบี้ยต่ำ การเข้าในสินทรัพย์และสภาวะตลาดของสินทรัพย์ได้ดีก็จะทำให้เราเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนต่อมาคือการจัดพอร์ตและปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด (ขั้นตอนนี้ยากที่สุด เพราะการที่จะปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้บางครั้งจะขัดกับอารมณ์ของนักลงทุนเอง เช่นบางครั้งเรามองว่าราคาทองำลังขึ้นแรง เราจึงอยากจะนำเงินในส่วนที่ลงทุนในหุ้นมาลงทุนในทองคำแทน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด จึงทำให้พอร์ตการลงทุนที่วางไว้นั้นไม่ได้ให้ผลตอบแทนตามที่หวัง)
ขั้นตอนสุดท้ายคือการปรับพอร์ตให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากลงทุนได้ระยะเวลาหนึ่ง การปรับพอร์ตให้เหมาะกับสภาพตลาดของแต่ละสินทรัพย์เป็นสิ่งที่จะเป็นเพื่อจะให้ได้พอร์ตการลงทุนที่ดีขึ้นตลอดเวลา ขั้นตอนสุดท้ายเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะถึงแม้จะมีการจัดพอร์ตที่ดี แต่ถ้าไม่มีการปรับปรุงพอร์ตให้เหมาะตามยุคสมัยหรือตามสภาพตลาดแล้ว การกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดพอร์ตก็แถบจะไม่ช่วยอะไรเลย
การลงทุนในทองคำก็เช่นกัน นักลงทุนความจะรู้ว่าตลาดทองคำมีแบบใดบ้างมีทองคำอะไรบ้างให้ลงทุน แต่ละอันมีกฎระเบียบข้อบังคับอย่างไร อันไหนเหมาะกับเรา อันไหนเหมาะกับการลงทุนระยะสั้น อันไหนเหมาะกับระยะยาว ข้อดีข้อเสียของตลาดทองแต่ละแบบต่างกันอย่างไร
สำหรับโกลด์ฟิวเจอร์สหรือสัญญาล่วงหน้าทองคำ ทุกคนคงทราบอยู่แล้วว่าเหมาะกับการลงทุนในระยะสั้นไม่เกินหกเดือน แต่ใช้เงินในการลงทุนที่ต่ำ ซึ่งเหมาะสมสำหรับนักเก็งกำไรมากกว่านักลงทุนระยะยาว ส่วนคนที่ลงทุนระยะยาวนั้นเหมาะสมกับการลงทุนในทองคำแท่งจริงๆมากกว่า
อย่างไรก็ดี นักลงทุนระยะยาวที่ลงทุนในทองคำแท่งจริงนั้นสามารถใช้โกลด์ฟิวเจอร์สในการสร้างหรือปรับกลยุทธ์ในการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่มากยิ่งขึ้นได้ตามสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป การที่โกลด์ฟิวเจอร์สขนาด 10 บาทกำลังจะเข้ามายังตลาดทองคำเมืองไทย บวกกับในอนาคตจะมีการซื้อขายอัตราเเลกเปลี่ยนล่วงหน้าที่จะทำให้ไม่เฉพาะการลงทุนในทองคำบ้านเราเปลี่ยนไปแต่ยังจะทำให้การลงทุนในธุรกิจหลายๆประเภทในบ้านเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้นักลงทุนทั่วไปต้องปรับตัวเอง รวมถึงปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม เปลี่ยนวิธีและนโยบายเพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่นักลงทุนรับได้
สมัยก่อนเราใช้นกพิราบในการส่งสาร ปัจจุบันเราใช้อีเมล์ สมัยก่อนเราใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตสินค้าเกษตรผลิตอาหาร ปัจจุบันเราใช้พลังงานน้ำมัน ใช้แก๊ส ใช้คลื่นแม่เหล็กในการผลิต ในการขนส่ง สมัยก่อนเราซื้อของจากร้านโชว์ห่วย ปัจจุบันเราซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ก็เหมือนกับตลาดทองนั่นแหละ สมัยก่อนเราซื้อทองคำรูปพรรณไว้ใส่ประดับ แต่ในปัจจุบันและในอนาคตเราก็ใช้ทองคำเพื่อจุดประสงค์ที่เปลี่ยนไป ด้วยวิธีการที่เปลี่ยนไป ใครที่ไม่ปรับตัว ไม่ปรับวิธีการลงทุน ไม่ปรับให้เหมาะสมเข้ากับวิถีตลาดที่เปลี่ยนไป ก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จในการลงทุน