xs
xsm
sm
md
lg

‘ดอยซ์แบงก์’ฉีกกรอบอุ้มSMEs

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ดอยช์แบงก์” โชว์ไอเดียเก๋ แก้ปัญหาโดนสกัดดาวรุ่ง จากข้อจำกัดแบงก์ชาติ เข้าหารือ สสว. เตรียมจัดทำแผนให้บริการสินเชื่อรายย่อย (ไมโคร ไฟแนนซ์) แก่ SMEs ไทย พร้อมคืนกำไรสู่สังคมไทยผ่านการส่งเสริมการเติบโต SMEs ในหลากกิจกรรม หลังประสบความสำเร็จกับการส่งเสริมธนาคารหมู่บ้านในภูเก็ต จนอัตราหนี้เสียที่ระดับ 0%

นายมัลเฟรด เฌอร์เมอร์ซ (Mr. Manfred Schmoelz) ประธานคณะเจ้าหน้าที่ระดับประเทศ (Chief Country Officer - CCO) และผู้จัดการใหญ่ (Managing Director) ดอยช์แบงก์ ประเทศไทย (Deutsche Bank Thailand) เปิดเผยว่า แม้ผลประกอบการของแบงก์อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ธนาคารยังมีข้อจำกัดในเรื่องจัดตั้งแบงก์สาขาตามพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ทำให้ต้องอยู่ในฐานะที่แข่งขันได้น้อยเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า “สกัดดาวรุ่ง”

ดังนั้น เมื่อนายมัลเฟรดได้รับการแต่งตั้ง (เม.ย.2552) สิ่งแรกจึงหนีไม่พ้นเรื่องว่าจะขยายงานอย่างไรภายใต้ข้อจำกัดหลายด้าน จึงเล็งว่าการขยายงานในไทยต้องครอบคลุมไปถึงตลาดลูกค้ารายย่อยด้วย เพราะที่เยอรมนีนั้น ดอยช์แบงก์ประสบความสำเร็จมากกับตลาดส่วนนี้มาก

ในการนี้ ทางธนาคารจึงเล็งเห็นปัญหาสำคัญของ SMEs ว่า มักมีจุดอ่อนเรื่องไฟแนนซ์ อีกทั้งยังมีความจำกัดด้านงบประมาณที่จะจ้างนักการเงินมือฉกาจ มาช่วยบริหารจัดการการเงินให้เกิดความคล่องตัว และมีความประหยัดและคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งมาแนะนำช่องทางที่จะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่พอจะฉวยคว้าได้จากระบบเศรษฐกิจ

**ลองไมโครไฟแนนซ์ที่ภูเก็ต

ดังนั้น ดอยช์แบงก์ ได้ทดลองทฤษฎีและทดสอบตลาดลูกค้ารายย่อย หลังมีโอกาสทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยได้รับงบประมาณก้อนหนึ่งจากต่างประเทศ เพื่อบริจาคช่วยเหลือชุมชนคนไทยที่ประสบความทุกข์ยาก ด้วยการเลือกดำเนินการผ่านสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนของนายมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งธนาคาร ฯ ตัดสินใจนำเงินบริจาคนี้ไปจัดทำเป็นกองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือเป็นทุนจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านในชุมชนชายทะเลของจังหวัดภูเก็ต และธนาคารชุมชนเหล่านั้นต้องรับฝากเงินจากครัวเรือนในชุมชนร่วมด้วยในลักษณะคล้ายสมาชิก โดยแต่ละครัวเรือนสามารถขอรับเงินกู้ ในครั้งละหนึ่งพันบาทบ้าง สองพันบาทบ้าง เพื่อนำเงินไปใช้กับการปรับปรุงอุปกรณ์การทำมาหากิน เช่น อุปกรณ์ประมง ฯลฯ ซึ่งในเวลาต่อมา ก็พบว่าชาวบ้านประสบความสำเร็จกับการจัดการเงินทุน และบริหารสินเชื่อด้วยระบบตรวจสอบกันเองอย่างได้ผล ทำให้ธนาคารหมู่บ้านนี้จึงมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ระดับ 0%

**เล็งธุรกิจเทคโนฯสีเขียวกับภารรัฐ**

เมื่อประสบความสำเร็จ ผู้บริหารของดอยช์แบงก์จึงจะผลักดันบริการด้านสินเชื่อรายย่อยในระดับที่กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะที่ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสีเขียว และพลังงานสีเขียว เป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะได้อยู่ในกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย โดยมีการศึกษาข้อมูลอย่างกว้างขวางเพื่อกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปจัดทำแผนงานรูปธรรม เอาไว้เป็นโร้ดแมปธุรกิจ มีการเดินสายหารือกับหน่วยงานภาครัฐ พร้อมวางบทบาทที่จะขอให้หน่วยงานเจ้าภาพ แต่จะจำกัดบทบาทเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน ซึ่งสสว. เอสเอ็มอีแบงก์ ตลอดจนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คือหน่วยงานภาครัฐที่ ดอยช์แบงก์ เล็งที่จะเชิญเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือเกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อย ถ้าเงื่อนไขมีความเอื้อเฟื้อและสร้างสรรค์

**พร้อมร่วม สสว. ส่งเสริม SMEs**

ล่าสุด เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายมัลเฟรด นำคณะผู้บริหารระดับสูงของแบงก์เข้าพบปะหารือกับนายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ SMEs ไทย ตลอดจนแนวทางการส่งเสริม SMEs ของทางการไทย พร้อมกับหาแนวทางสร้างความร่วมมือที่อาจพัฒนาขึ้นมาระหว่างกัน เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่ SMEs และวิสาหกิจรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และโอท็อป

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจต่อการส่งเสริม SMEs ในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการส่งเสริมด้านการเงิน เช่น การขยายตลาด และการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ธนาคารมีความสนใจที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการตลาด เช่น การประสานงานให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการเยอรมัน ตลอดจนการประสานงานให้บริษัทด้านเทรดดิ้งเฟิร์มจากเยอรมนีมาทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของไทย เพื่อคัดเลือกสินค้าของ SMEs และโอท็อปทั้งหลาย เข้าไปขยายตลาดในยุโรป

ส่วนภารกิจของ สสว. ในการส่งเสริม SMEs ไทยเข้าขยายธุรกิจในภูมิภาค ASEAN และจีน นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งสาขาความร่วมมือที่แบงก์แสดงความสนใจ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้รับความสะดวกคล่องตัวในด้านต่างๆ โดยแบงก์คาดหวังว่าทุกอย่างอาจเป็นรูปธรรมได้ในราวต้นปี 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น