xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ ทุนยักษ์เกมโอเวอร์ “สุเมธ” แนะใช้ความพอดีฝ่าหายนะ ศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสวนาทางรอดธุรกิจ ยุค ศก.ถดถอย ยาวนาน “ดร.สุเมธ” แนะใช้ปรัชญา ศก.พอเพียงฝ่ามรสุม เตือนจุดจบทุนนิยมสุดโต่ง เน้นวัตถุนิยม-การบริโภคเกินตัว บทเรียนหายนะ ศก.โลก เพราะลัทธิบริโภคนิยมเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยไม่มองสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ ศก.ประสบปัญหา เพราะไม่สอดคล้องกับฐานะของประเทศ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการบริหาร สถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นประธานแถลงข่าว “ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ให้ธุรกิจอยู่รอด” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยฯ ภายใต้มูลนิธิพัฒนาไท สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

การแถลงข่าวครั้งนี้มีวัตถุประสงค์นำเสนอความเป็นไปได้ในแนวทางและวิธีการประยุกต์ใช้พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับองค์กรธุรกิจ เพื่อให้สามารถฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ อีกทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศเข้าใจถึงคุณประโยชน์ของการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ โดยขณะนี้ได้มีการจัดทำโครงการตัวอย่างการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นในกรณีองค์กรธุรกิจ

ทั้งนี้ ผลจากกรณีศึกษาองค์กรธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการประกวดของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 6 แห่ง ซึ่งขณะนี้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของคณาจารย์ต่างประเทศและสถาบันวิจัยฯ และเมื่อผลศึกษาเสร็จสถาบันวิจัยฯ จะทำจัดหนังสือ เพื่อนำไปเผยแพร่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในวงธุรกิจอย่างกว้างขวาง

นายสุเมธ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ปี 2541 แต่ยังไม่เป็นที่เข้าใจ ทาง สศช.จึงได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 จนถึงปัจจุบัน คำว่าพอเพียงสามารถใช้ได้กับธุรกิจ เพราะหลักการทำธุรกิจตั้งอยู่บนเหตุผล เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวอย่างการทำธุรกิจส่วนใหญ่มักทุ่มสุดตัว เพราะใช้กิเลสนำทางแต่ไม่มีผู้หยั่งรู้อนาคต ขณะที่การบริหารความเสี่ยงทำได้ยาก และทำให้เกิดปัญหามีตัวอย่างให้เห็นทั้งภูมิภาคนี้ และสหรัฐฯ ที่มีปัญหาเรื่องสถาบันการเงินและปัญหาซับไพร์ม ซึ่งมีจุดจบเหมือนกัน

ดังนั้น จะต้องทำอย่างไรที่จะบริหารอย่างพอประมาณ อย่าทำอะไรมากเกินไป ต้องทำธุรกิจอย่างยั่งยืนไม่หวังเพียงผลกำไร เพราะความยั่งยืนสำคัญมากกว่า และทำให้กำไรอยู่กับธุรกิจยาวนาน นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะหากไม่ระมัดระวังใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองไม่ใช้ความพอประมาณสุดท้ายโลกจะไม่อยู่กับเรา ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีแนวคิดเหมือนกันเพียง แต่กระแสทุนนิยม และการบริโภคนิยม ยังมีมาก

“คำว่าพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งครอบคลุมทั้งคน สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อะไรก็ตามที่มีความปรารถนามากเกินจริงจะทำให้เกิดเรื่องตามมา หากรู้จักพอเพียงจะทำให้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม สมดุลกันอย่างยั่งยืน”

นายสุเมธ กล่าวถึงแนวคิดตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ลัทธิบริโภคนิยมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยไม่มองสิ่งแวดล้อม จนทำให้เศรษฐกิจประสบปัญหาเพราะไม่สอดคล้องกับฐานะของประเทศ จนมีการหันมาใช้แนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็ยังมีความคิดด้านการเติบโตอย่างรวดเร็วและการสนับสนุนการบริโภคอยู่ จึงมีความพยายามที่จะแปลงแนวคิดปรัชญามาเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยเริ่มจากการระดมตัวอย่างธุรกิจที่ประสพความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง โดยมีการประกวดให้รางวัลและการดำเนินการโครงการนี้ ก็เป็นการดำเนินการต่อเนื่องที่ขอให้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ มาแปลแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้แนวทางการวิเคราะห์ทางธุรกิจมาวิเคราะห์ตัวอย่างองค์กรธุรกิจที่ประสพความสำเร็จและได้รับรางวัล เพื่อจะได้เป็นการขยายแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนมากขื้นต่อไป

นายดีภัค เจน อดีตคณบดี Kellogg School of Management, Northwestern University กล่าวถึงสภาวะธุรกิจวิกฤตการเงินโลกปัจจุบัน ซึ่งความจริงในวงวิชาการเห็นมาล่วงหน้า วิกฤตการเงินครั้งนี้ไม่ได้กระทบในเอเซียเท่ากับในโลกตะวันตก และคาดได้ว่าปัญหาต่อไปคือปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาวิกฤตอาหาร เพราะอัตราเกิดประชากรสูงกว่าการขยายการผลิตอาหาร ปัญหาการบริโภคมากเกินไปเป็นรากฐานปัญหาโลก แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำตอบที่สำคัญในเรื่องนี้ แนวคิดของบิลเกตส์ เชื่อว่า เมื่อมีรายได้ต้องให้กลับสังคม และการให้กลับจะเป็นการช่วยให้ขยายตัวต่อไปได้ และได้มีชื่อเสียงเป็นอมตะในด้านผลงานต่อสังคม แต่แนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่างไปที่พระองค์ท่านไม่ได้คิดถึงการจะได้ชื่อเสียง แต่เป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยสังคมช่วยประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครอบคลุมแนวคิดตะวันตกยุคใหม่ไม่ว่าจะเป็นความเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบทุนนิยมหรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ครอบคลุมการสร้างทุน การสร้างสังคมให้ดีขึ้น การดูแลสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่งคั่ง และมั่นคงให้ประเทศและประชาชน

นายดีภัค กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระวิจารณญาณที่กว้างไกลสามารถคือล่วงหน้าไปไกลก่อนที่จะมีการตื่นตัวในเรื่องนี้ และเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจะต้องมีการศึกษาและวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป และ Kellogg กับสถาบันศศินทร์ฯ จะมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไปในเรื่องนี้

คุณนิกม์ พิศลยบุตร จากสถาบันศศินทร์ฯ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการศึกษาของสถาบัน การเสนอวิธีการและแนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทางธุรกิจ ตลอดจนเสนอเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นสำหรับการวัดผลการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทางธุรกิจ

นายจอร์จ อโบนี่ อาจารย์พิเศษ Maxwell School, Syracuse University ให้ความเห็นว่างานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการริเริ่มทำการศึกษาการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทางธุรกิจอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก โดยมีการอธิบายหลักการ วางกรอบ พัฒนาเครื่องชี้วัด ตลอดจนจัดทำกรณีศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นการวางรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งทางวิชาการที่จะสามารถมีการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่การขยายแนวความคิดการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในด้านธุรกิจให้กว้างขวางออกไปในวงการวิชาการด้านธุรกิจและแวดวงธุรกิจต่างๆ ในโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น