xs
xsm
sm
md
lg

ชงแผนฟื้นอุตฯก่อสร้าง ชุบชีวิตเอกชนสู้ทุนนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.อุตสาหกรรรมก่อสร้างไทยฯ ชงยุทธศาสตร์การพัฒนา หวังภายใน 3 ปี ผลักดันมูลค่างานก่อสร้างเพิ่มเป็นร้อยละ 6 ของจีดีพี หนุนเศรษฐกิจไทยโตตาม วอนรัฐเร่งอัดฉีดเม็ดเงินโครงการไทยเข้มแข็งเข้าสู่ระบบ เพิ่มมูลค่างานก่อสร้างปีนี้แตะ 2 แสนล้านบาท หลังจากต้นปีลดฮวบ 30% จากปี 51

นายพลพัฒ กรรณสูต นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า  สมาคมฯได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็ง รองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า ในปี 2558
 

โดย สาระสำคัญหลักของยุทธศาสตร์ดังกล่าว อาทิ การผลักดันให้มูลค่าก่อสร้างเพิ่มเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี หลังจากที่ช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ภาคก่อสร้างมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.3 ของจีดีพี และปรับตัวเหลือเพียงร้อยละ 2.8 หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และมีการจ้างงานให้ได้ 3.5 ล้านคนภายใน 3  ปีนับจากนี้ไป
 

นอกจากนี้ จะมีให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการก่อสร้างไทย เป็นองค์กรกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ และที่สำคัญคณะกรรมการดังกล่าว ต้องสามารถผลักดันนโยบายต่างๆที่ออกมาให้เป็นรูปธรรมได้ ซึ่งอาจต้องมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งยังสามารถกำหนดเกณฑ์คุณภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคการก่อสร้าง  รวมทั้งการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย มีโอกาสไปรับงานโครงการก่อสร้างสำคัญๆในต่างประเทศ เพื่อรองรับกับเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่ภาษีระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกจะเหลือ 0 %

แต่ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีหน้าเป็นแกนหลักให้แก่ผู้ประกอบการในการไปรับงานยังต่างประเทศ เช่น ให้กรมทางหลวงไปรับงานสร้างทางในต่างประเทศและรับเหมาช่วงให้เอกชนไทยต่อ ซึ่งหน่วยงานกรมทางหลวง สามารถจัดตั้งองค์กรคล้ายกับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่รัฐบาลถือหุ้น 100% เพื่อป้องกันการโกงค่าก่อสร้าง
 
“ที่ผ่านมา ผู้รับเหมาไทยที่ไปรับงานก่อสร้างในต่างประเทศเกือบทุกราย โดยเฉพาะในประเทศดูไบ จะถูกเบี้ยวค่าก่อสร้างในช่วง 2-3 งวดสุดท้าย ซึ่งกว่าจะฟ้องร้องเอาคืนได้ต้องใช้เวลานาน บางรายอาจถึงขั้นเจ๊งก่อนได้เงิน ซึ่งอุตสาหกรรมก่อสร้างเสียเปรียบอุตสาหกรรมอื่นๆ ตรงที่ต้องลงทุนก่อสร้างไปก่อนจึงจะเบิกค่างวดก่อสร้างได้”

นายพลพัฒ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของสภาหอการค้า ในฐานะที่สมาคมฯเป็นสมาชิกแล้ว เหลือเพียงเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หลังจากนั้นเข้าสู่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หากนายกฯเห็นด้วยกับหลักการ ก็จะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
 
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะผลักดันให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 ต่อไป เนื่องจากเห็นว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับก่อนหน้าจะให้ความสำคัญกับเรื่องภาคเกษตร ท่องเที่ยว ส่งออกและอุตสาหกรรมเป็นหลักแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคการก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นอีกภาคหนึ่งที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน

“ เรื่องเร่งด่วนที่ทางสมาคมฯต้องการให้ภาครัฐ เร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งมูลค่า 8 แสนล้านบาทในส่วนที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โครงการถนนปลอดฝุ่น โครงการก่อสร้างระบบชลประทาน ฯลฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการก่อสร้าง หลังจากที่ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในขณะนี้ ถือว่าอยู่ในภาวะชะลอตัวกว่า 30% โดยคาดการณ์ว่ามูลค่างานก่อสร้างในปีนี้จะมีประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่างานก่อสร้างประมาณ 2.2 แสนล้านบาท”
 
นายกฤษดา  จันทร์จำรัสแสง  เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าวว่า ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   (สศช. ) พยายามผลักดันให้ยุทธศาสตร์ก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 แต่จะผลักดันได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมแล้วถือว่ารัฐบาลชุดนี้ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอุตสาหกรรมก่อสร้าง เห็นได้จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการไทยเข้มแข็ง ที่ทุ่มงบกับโครงการการพัฒนาชลประทาน สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ หากรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้ทันในปีนี้ ก็เชื่อว่าจะทำให้มูลค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น