xs
xsm
sm
md
lg

APFขนเงินก้อนใหญ่เข้าไทยลงทุนตลาดหุ้น-อสังหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ซีอีโอกองทุนเอพีเอฟ” โชว์แผนระดมเงินเยนเข้าไทย ล่าสุดเทกโอเวอร์โบรกเกอร์แดนปลาดิบ หวังใช้เชื่อมโยงกับ บล.ยูไนเต็ด ชวนนักลงทุนญี่ปุ่นช้อนหุ้น พร้อมตั้งกองทุนชวนเศรษฐีอาทิตย์อุทัยเข้าร่วม เปิดขายหน่วยละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ มาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และหุ้นสยาม ยืนยันแม้บล.ยูไนเต็ด ขนาดเล็ก แต่ไม่คิดควบรวม หากบล.รายไหนสนใจเข้าร่วมกลุ่มมาคุยกันได้ พร้อมทุ่มทุนซื้อ และมั่นใจปีนี้มีโอกาสพลิกกลับมามีกำไร ส่วน “กรุ๊ป ลีส” สุดปลื้มยอดสินเชื่อมอเตอร์ไซด์พุ่งปรี๊ด เอ็นพีแอลน้อย ดันกำไรโต เล็งขยายสาขาภูธรเพิ่ม

มร.มิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอเชียพาร์ทเนอร์ชิพ ฟันด์ กรุ๊ป (APF Group) หรือกองทุน เอพีเอฟ กล่าวว่า ทางกลุ่มเอพีเอฟ ได้บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ชินโตเกียว ซิตี้ คอมปานี ที่ญี่ปุ่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินธุรกิจที่ต้องการเชื่อมโยงธุรกิจการลงทุนในหลักทรัพย์ ระหว่าง บล.ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) (US) และ ชินโตเกียวฯ ในการดึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย

“ที่ผ่านมาการเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยของนักลงทุนญี่ปุ่นจะมีอุปสรรค ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนในหุ้นไทยได้ แต่เมื่อเรามีไลเซนส์จากทั้ง 2 บล. ที่ได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะทำให้การเชื่อมโยงด้านฐานลูกค้าระหว่างกันมีเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงจะมีเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นไปด้วย นอกเหนือจากช่องทางเดิมที่บางส่วนลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลของบลจ.ยูไนเต็ด”

สำหรับ บล.ชินโตเกียวฯ เป็นโบรกเกอร์ขนาดกลางจาก 800 บริษัทโบรกเกอร์ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ด้วยทุนจดทะเบียน 12 ล้านเหรียญสหรัฐ และฐานลูกค้ากว่า 2,000 บัญชี อีกทั้งมีแนวดน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วยจุดเด่นในการให้บริการแบบไพรเวตแบงกิ้ง ที่เข้าถึงลูกค้าเป็นรายบุคคลด้วยข้อมูลที่ครบครัน จากผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์

**ตั้งกองทุนเศรษฐีญี่ปุ่นขนเงินเข้าไทย
ซีอีโอเอฟีเอฟ กล่าวว่า ขณะนี้ บล.ชินโตเกียวฯ กำลังจัดตั้งกองทุนขึ้นมา 1 โครงการ เพื่อนำเงินที่ได้รับเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยเริ่มต้นจะแบ่งเป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ที่สนใจในอัตราหน่วยละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

“เรามองว่าตอนนี้ ตลาดหุ้นไทยมีการเติบโตที่ดีขึ้นจากช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ที่อยู่ที่ในช่วงต่ำสุด อีกทั้งราคาหุ้นก็ถือว่ายังไม่แพงมากนัก ซึ่งจะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนกลับมาในระดับที่ดี”

**ลั่นไม่ทิ้งUSแต่พร้อมรับซื้อบล.เพิ่ม
ส่วน บล.ยูไนเต็ด ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่เป็นนักลงทุนญี่ปุ่นประมาณ 700 – 800 บัญชี และจากภาวะตลาดที่ดีขึ้น ทำให้ซีอีโอ เอพีเอฟกรุ๊ป เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาเพิ่มเติมในช่องทางนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้หลายคนจะมองว่า US เป็นโบรกเกอร์ขนาดเล็ก แต่นายมิทซึจิ ยืนยันว่า จะไม่มีการขายหุ้นหรือกิจการดังกล่าวอาจจากเครือฯ แม้ว่าทางทฤษฎีแล้ว บล.ขนาดเล็กจำเป็นต้องควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอด แต่หากบล.อื่นในไทยต้องการจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเครือฯ ตนเองก็พร้อมรับฟังข้อเสนอและพร้อมที่จะเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการกิจการเช่นกัน ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ก็มีผู้บริหารบล.บางแห่งเข้ามาพูดคุยกับทางกลุ่มบ้างแล้ว

นอกจากนี้เชื่อว่า หากภาวะตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี จะทำให้บล.ยูไนเต็ดมีผลดำเนินงานพลิกจากขาดทุนเมื่อปีที่แล้ว กลับมามีกำไรสุทธิในปีนี้ได้ ซึ่งสักเกตุได้จากการดำเนินงานในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ที่ดีขึ้นเมื่อ 3 เดือนแรกในปีนี้ อีกทั้งยังพบว่าแม้สัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยของUSเล็กน้อย แต่ในด้านการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของบริษัทกลับมีความมั่นคง และสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้เฉลี่ยต่อวันประมาณ 12 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงรายได้ที่เพิ่มเติมจากส่วนวาณิชธนกิจที่บริษัทจะได้รับจากทางกลุ่มเอพีเอฟ ตามความสำเร็จของดีลต่างๆที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

“แม้ปีที่แล้ว บล.ยูไนเต็ดขาดทุน แต่ก็มาจากปัญหาลุกค้าผิดนัดชำระหนี้ ตามสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แต่ในด้านกระแสเงินสด และสภาพคล่องของบริษัทไม่มีปัญหา จึงพร้อมที่จะลงทุนในการขยานยและพัฒนาธุรกิจได้ทุกเมื่อ อีกทั้งตอนนี้ลูกค้าที่ผิดนัดชำระก็เริ่มทยอยกลับมาชำระหนี้ที่ค้างไว้คืนให้แก่บริษัทบ้างแล้ว”
**ปัดฝุ่นดึงพันธมิตรอาหรับเข้าไทย

สำหรับการดำเนินธุรกิจของ บลจ.ยูไนเต็ด ขณะนี้กำลังมีการเจรจากับกลุ่มนักลงทุนจากตะวันออกกลาง อีกครั้ง ตามแผนเดิมที่วางไว้เมื่อปีที่ผ่านมาหลังจากที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย จนทำให้การเจรจาดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า แต่ขณะนี้ทิศทางภาวการณ์ลงทุนในไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงเหมาะที่จะชักชวนนักลงทุนในกลุ่มนี้ให้เข้ามาลงทุนเช่นเดิม

“ผมเชื่อว่าเทรนด์การลงทุนในไทยกำลังจะเปลี่ยนไปเหมือนกับในหลายๆประเทศ เช่นญี่ปุ่นที่ผู้ลงทุนจะไม่เข้าลงทุนในหุ้นโดยตรง แต่จะให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือฟันเมเนเจอร์เป็นคนดำเนินการแทนทำให้ในอนาคตเชื่อว่า บลจ.ยูไนเต็ดจะเป็นอีกหนึ่งบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่มีไชส์ใหญ่ขึ้นกว่าปัจจุบัน”

**ปลื้มกรุ๊ปลีสเวิร์ค-สินเชื่อพุ่ง
ขณะที่การดำเนินงานของ บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) นายมิทซึจิ กล่าวว่า ตนเองพอใจกับผลการดำเนินงานมาก เพราะสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ของบริษัทมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้ครองมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 11% หรืออันดับ 4 ของตลาดจักรยานยนต์ และมีโอกาสที่จะแซงขึ้นเป็นอันดับ 3 จากไฮเวย์ สตาร์ หลังยอดสินเชื่อในเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก แต่อันดับหนึ่งในขณะนี้ยังเป็นของบมจ.ฐิติกร และล่าสุดบริษัทได้เปิดสาขาใหม่เพิ่มที่ นครราชสีมา อีกทั้งมีแนวโน้มจะขยายจำนวนสาขาในต่างจังหวัดออกไปเรื่อย

โดยปีที่แล้ว GL มีกำไรสุทธิ 183 ล้านบาท รายได้รวม 774.98 ล้านบาท แต่มีหนี้เสีย (เอ็นพีแอล)เพียง 4% ทั้งนี้เพราะประชากรชาวไทยมีความต้องการใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมาก และด้วยราคาที่ถูกกว่าการเช่าซื้อรถยนต์มาก ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้มีสูง จนบริษัทต้องมีบริการสินเชื่อส่วนบุคคลเข้าเสริมให้กับลูกค้าที่มีประวัติในการชำระหนี้ได้ดี แม้จะเป็นรายได้เพียง 1% ของรายได้ทั้งหมดก็ตาม

**ลั่นมี200ล.เหรียญพร้อมลงทุน
นายมิทซึจิ กล่าวถึงแผนการลงทุนในปีนี้ ว่า ทางกลุ่มกำหนดวงเงินลงทุนในภูมิภาคนี้ไว้ที่ 200 ล้านเหรียญ ซึ่งจะคงแผนเดิมคือต้องการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจนอนซ์แบงก์ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่สรุปได้ว่าจะเป็นการลงทุนในส่วนใดบ้าง ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะถูกแบ่งเข้ามาลงทุนเพิ่มในธุรกิจประกันภัยของบริษัท เอพีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์ จำกัด หรือ APFII จำนวน 100 ล้านบาท และเพิ่มเติมได้อีกตามข้อเรียกร้องของผู้บริหารที่ต้องการขยายธุรกิจประกันภัย

ส่วนภาพรวมการลงทุนในไทย มองว่ายังมีปัจจัยบวกหลายด้านเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศ เพราะไทยมีจุดแข็งในหลายธุรกิจเช่นอุตหสาหกรรมการเกษตร เช่น ข้าว แม้จะมีปัญหาในด้านสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งส่วนตัวมองว่าสามารถบริหารจัดการธุรกิจกับความเสี่ยงดังกล่าวได้ ทำให้ไม่มีปัญหาหากจะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในไทย

นอกจากนี้ ทางกลุ่มเอพีเอฟ ก็มีความสนใจเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์ โดยจะเป็นการลงทุนผ่านบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่จะต้องเป็นบริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับแผนของกลุ่มที่ต้องการดำเนินธุรกิจการเงินครบวงจร แต่ไม่มีธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหากสามารถดำเนินการดังกล่าวได้สำเร็จ จะช่วยให้ทางกลุ่มมีศักยภาพและเครือข่ายการลงทุนที่ครอบคลุมมากขึ้น หลังจากที่มีการลงในไทย และในญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น