xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ป่วยหนัก! เงินหายจากระบบแสนล. ธปท.ถกรับมือ 22 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าฯ ชี้การเมืองวุ่น ทุบจีดีพีทรุดฮวบ 4-6% การบริโภค-การลงทุนชะลอตัว ทำเงินหายจากระบบ 5 หมื่นล้าน ถึง 1 แสนล้าน ขณะที่ ธปท.เตรียมนำประเด็นการเมืองเพิ่มน้ำหนักความเสี่ยง ศก. เล็งหั่นคาดการณ์อีกรอบ หลังประชุมแนวเงินเฟ้อ 22 เม.ย.นี้

นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพอใจที่เหตุการณ์สงบเร็ว เพราะความวุ่นวายที่เกิดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจแย่ลงมาก ซึ่งจำเป็นที่ภาครัฐจะเร่งสร้างความสงบให้เร็วเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจแย่ไปกว่านี้

ที่ผ่านมา สภาหอการค้าฯ ประเมินว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ในปี 2552 จะติดลบแค่ 2% แต่เมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมา ก็เห็นว่า จีดีพี มีโอกาสติดลบหนักถึง 4.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เดิมคาดการณ์ไว้น่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบประมาณ 3% แต่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะติดลบประมาณ 4 -6% โดยเฉพาะภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่อาจจะสูญเสียรายได้จากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองประมาณ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนั้นการชะลอตัวลงของการบริโภคและการลงทุนอาจจะมีเม็ดเงินสูญหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคงจะต้องดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบต่อไปอย่างไร และสามารถที่จะฟื้นความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนได้รวดเร็วเพียงใด

นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา จะกระทบต่อ จีดีพี ในปี 2552 หดตัวต่ำลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวติดลบ 0-2%

ส่วนจะติดลบถึง 4.5-5.0% ตามที่นายกรณ์ จาติกวณิชย์ รํฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินหรือไม่นั้น ในการประชุมแนวเงินเฟ้อในวันที่ 22 เมษายน 2552 นี้ ธปท.จะนำสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นเข้ามาเป็นปัจจัยหนึ่งของสมมติฐานในการทบทวนประมาณการจีดีพีของในปีนี้ ตามข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะหดตัวติดลบกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ การที่ไทยถูกปรับลดอันดับเครดิต จากสถาบันจัดอันดับต่างๆ ว่า จากนี้ก็ต้องมาดูว่า การลดลงของเครดิตจะส่งผลต่อช่องว่างการกู้ยืม(สเปรด) ในตลาดให้ปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือมากน้อยแค่ไหน โดยคาดว่าภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบมากกว่าภาคธนาคาร เนื่องจากมีการกู้ยืมจากต่างประเทศมาก ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนไทยกู้เงินจากต่างประเทศประมาณ 45,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนรัฐบาลและวิสาหกิจมีการกู้จากต่างประเทศประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์

“การที่ประเทศถูกลดเครดิตจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น แต่ในส่วนของภาคธนาคารคงได้รับผลกระทบไม่มากเท่าภาคเอกชน เพราะภาคธนาคารพึ่งพาการกู้ต่างประเทศไม่มากนัก ในส่วนของสภาพคล่องในประเทศขณะนี้ ยังมีมากเพียงพอต่อการรองรับการกู้ยืมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่อาจจะมีแนวโน้มการกู้ยืมในประเทศมากขึ้น”

ส่วนจะทำผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield) เร่งตัวขึ้นหรือไม่นั้น เชื่อว่าภาครัฐและเอกชนจะเลือกจังหวะที่เหมาะสมในการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในประเทศ คงจะไม่ไปแย่งสภาพคล่องกันเอง จึงไม่น่าจะกระทบกับ yield ขณะเดียวกันตลาดก็มีความต้องการพันธบัตรจากนักลงทุนมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดค่อนข้างต่ำ

ทั้งนี้ นโยบายการเงินเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เพราะจะต้องมีตัวอื่นเข้ามาสนับสนุนด้วย เช่น นโยบายการคลัง เพราะการลดดอกเบี้ย อาจจะช่วยเพียงการช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ แม้กระทั่งกระตุ้นการใช้จ่าย และลดความเสี่ยงให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) แต่อย่างไรก็ตามจะต้องคำนึงถึงผู้ฝากเงินด้วย เพราะทำให้รายได้ของผู้ฝากจะลดลง ดังนั้นการกำหนดนโยบายการเงินก็จะต้องมีความสมดุลกันทั้ง 2 ฝ่ายด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น