xs
xsm
sm
md
lg

หั่นเครดิตบาทFIFไม่กระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการกองทุนมองค่าบาทถูกหั่นเครดิต ไม่กระทบกองทุนเอฟไอเอฟ ระบุ ในทางกลับกัน มีโอกาสได้กำไรมากกว่า หากบาทอ่อนลง พร้อมย้ำต้นทุนเฮจด์ค่าเงินกองทุนบอนด์ต่างประเทศไม่พุ่ง จนฉุดผลตอบแทนลดลง ประเมินผลต่อภาคเอกชน เพิ่มต้นทุนออกหุ้นกู้ ส่งผลให้ความเสี่ยงสูงขึ้น ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจ ยังเชื่อไม่กระทบ แนะเร่งยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หวั่นตลาดหุ้นกระเทือน

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด เปิดเผยว่า การที่เงินบาทไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจากสถาบันจัดอันดับเครดิตชื่อดังนั้น หากมองถึงผลกระทบต่อกองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) แล้ว ไม่มีผลกระทบอะไรมาก และค่อนไปทางได้กำไรมากกว่า เนื่องจากการลดความน่าเชื่อถือดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกองทุนที่จะเปิดระดมทุนใหม่ อาจจะต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้นในการซื้อหลักทรัพย์ หรือออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เงินที่ออกไปมาก เมื่อแปลงกลับมาเป็นค่าเงินบาทแล้ว สัดส่วนก็จะสูงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงอยู่แล้ว โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศก็คงไม่มีผลกระทบมากนัก ซึ่งรวมถึงกองทุนใหม่ที่ต้องทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันความเสี่ยงค่าเงินนั้น ผลกระทบเองในแง่ต้นทุนจนกระทบผลตอบแทนก็ไม่น่าจะมีเช่นกัน

นายพิชิตกล่าวว่า แต่อย่างไรก็ตาม การปรับลดความน่าเชื่อถือดังกล่าว จะมีผลกระทบมากในแง่ของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะอาจจะมองว่าการลงทุนในประเทศอื่นๆ ดูดีกว่าและน่าสนใจกว่า ซึ่งในส่วนนี้อาจจะรวมถึงนักลงทุนในประเทศด้วย ซึ่งอาจจะมองว่าการลงทุนต่างประเทศน่าสนใจมากขึ้น

นอกจากนี้ การลดความน่าเชื่อถือ อาจจะกระทบในกรณีที่ต้องกู้เงินต่างประเทศ ทำให้ส่วนนี้มีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงการกู้เงินลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) อาจจะมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย

นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทถูกปรับลดความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ เป็นการปรับลดความน่าเชื่อถือของ Local Currency เท่านั้น ไม่ใช่การปรับลดในขั้นของ Foreign Currency ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมาก ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินในประเทศหรือการกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งการกู้เงินต่างประเทศเอง ยังสามารถใช้เครดิตของประเทศในการกู้เงินได้เช่นเดิม เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และในปัจจุบันการกู้เงินต่างประเทศก็มีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของกองทุนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศเอง หากค่าเงินบาทอ่อนลง กลับจะเป็นผลดีต่อกองทุนมากกว่า เพราะจะทำให้กองทุนมีกำไรมากขึ้น เนื่องจากสามารถแปลงเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ส่วนกองทุนตราสารหนี้ที่ต้องมีต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ก็ไม่กระทบจนฉุดผลตอบแทนของกองทุนลดลงเช่นกัน

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวถึง การที่ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสกุลเงินบาทว่า การปรับลดความน่าเชื่อถือดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของกองทุนรวมแต่อย่างใด แต่หากจะได้รับผลกระทบคงเป็นเรื่องของการโยกเงินลงทุนจากตลาดหุ้นไปลงทุนในตราสารหนี้แทน

ทั้งนี้ การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อบริษทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินงานสัมพันธ์กับภาครัฐเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทเอกชนโดยรวมทั้งหมดในตลาดที่จะมีผลไปถึงเรื่องการออกหุ้นกู้ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ยํ่าแย่ไปมากนัก จึงไม่น่าจะมีความกังวลมากในเรื่องนี้ และเชื่อว่าหากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นแล้ว ในด้านอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆก็จะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องที่รัฐบาลได้คงการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ในขณะนี้นั้น นายวนา มองว่า หากรัฐบาลทำการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองเป็นประเด็นที่มีผลไปถึงเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย

นาย บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. ธนชาต จำกัด ที่ระบุว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเงินบาทนั้น ไม่ส่งผลประการใดต่อการลงทุนของกองทุนรวม แต่จะไปส่งผลกระทบต่อในเรื่องของการกู้เงินจากต่างประเทศทั้งของรัฐบาลและบริษัทเอกชน ซึ่งจะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น
โดยในส่วนของรัฐบาลนั้นคงไม่กระทบอะไรมากเพราะมีความแข็งแกร่งสูงกว่าบริษัทเอกชน ทึ่ต้องอาศัยการกู้จากภายในประเทศเป็นหลัก ขณะเดียวกันในช่วงภาวะขณะนี้ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ตํ่าคงจะไม่เกิดความเสียหายมากนัก

ทั้งนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ หรือ S&P ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทระยะยาว จากระดับ A เป็น A- และมีโอกาสจะลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้อีกในอนาคต ขณะที่สกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับความน่าเชื่อถือยังอยู่ที่ทริปเปิ้ลบีบวก ( BBB+) แต่มีมุมมองในเชิงลบมากขึ้น

โดยสาเหตุของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว เป็นผลเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่เกิดความรุนแรง และทำให้คาดว่าการเมืองไทยคงจะไม่มีเสถียรภาพในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งนี้ การลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไทยต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในการระดมเงินในรูปสกุลเงินบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และจะมีผลให้เอกชนมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นด้วย

ล่าสุด ฟิทช์ เรทติ้งส์ เอง ก็ได้ปรับลดอันดับเครดิตของสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของไทยจาก BBB+ เป็น BBB และปรับลดอันดับเครดิตสกุลเงินบาทจาก A เป็น A- เช่นกัน ซึ่งผลจากการลดอันดับเครดิต จะทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยที่จะออกขายมีอัตราสูงขึ้น ทั้งในสกุลเงินบาท เงินต่างประเทศ และยังเพิ่มต้นทุนทางการเงินของบริษัทเอกชนไทยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น