xs
xsm
sm
md
lg

คลังมั่นใจเช็คช่วยชาติ กระตุกจีดีพี 1.4% เงินสะพัด 6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมช.คลัง มั่นใจมาตรการกระตุ้น ศก.โดยอัดฉีดเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ด้วยการแจกเช็คช่วยชาติ 2 พันบาท จำนวน 10 ล้านใบ กระตุก “จีดีพี” เพิ่มขึ้น 1.4% หอการค้าโพลล์ เผยผลสำรวจ 32.73% พร้อมใช้เช็คช่วยชาติทันที โดยส่วนใหญ่แลกเป็นเงินสด เพราะกลัวสูญหาย ส่งผลเงินในระบบหมุน 4.5-6.0 หมื่นล้าน

นายแพทย์ พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลได้เริ่มแจกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา จนถึงวานนี้ (29 มี.ค.) มีประชาชนผู้มีสิทธิ์รับเช็คช่วยชาติ รับไปแล้วกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด

“รัฐบาลเชื่อว่า การแจกเช็คช่วยชาติครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1.4 เพราะมองว่าจะมีเงินจำนวนมากกว่า 20,000 ล้านบาท เข้าไปหมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 7 รอบ ซึ่งก็จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 140,000 ล้านบาท”

รมช.คลัง ยังเชื่ออีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับเช็คช่วยชาติ จะนำเงินออกไปใช้จ่ายทันที ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงจูงใจสำหรับกลุ่มของประชาชนที่ไม่ได้รับเช็ค ต้องการนำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินสถานการณ์เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท โดยระบุว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 3 รอบ โดยในรอบแรก คือ ภายใน 15 วันจนถึงช่วงสงกรานต์ ประมาณ 15,000 – 17,000 ล้านบาท ส่งผลให้เงินการหมุนเวียนของเงินทั้งระบบ 45,000-60,000 ล้านบาท จากการการใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อคนประมาณ 1,546.77 บาท คิดเป็น 75%ของวงเงินที่ได้รับเช็ค 2,000 บาท

นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นจากระดับที่ไม่มีมาตรการนี้ 0.3-0.5% และคาดว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นจากระดับไม่มีมาตรการนี้ 1.5-2.0%

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ ม.หอการค้า ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,047 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2552 เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 32.73% จะทำการใช้จ่ายเต็มจำนวนเงิน 2,000 บาท กลุ่มตัวอย่าง 56.94% จะทำการใช้จ่ายบางส่วน และเก็บออมบางส่วน และ 10.33% จะเก็บออมทั้งหมดไม่ทำการใช้จ่ายเลย

โดยกลุ่มที่ใช้จ่ายเต็มจำนวนเงิน 2,000 บาท ให้เหตุผลของการใช้ว่า จำเป็นที่จะต้องใช้เป็นอันดับแรก รองลงมาคือเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล และถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐ ตามลำดับส่วนกลุ่มที่ใช้จ่ายบางส่วน และเก็บออมบางส่วน ให้เหตุผลว่า จะทำการทยอยใช้จ่าย และจะใช้จ่ายเมื่อยามจำเป็น เป็นอันดับแรก รองลงมาคือ เพื่อสนองนโยบายของรัฐ ตามลำดับ

สำหรับกลุ่มที่เก็บออมทั้งหมดไม่ทำการใช้จ่ายเลย เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ดังนั้น ควรมีการเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การเก็บเป็นของที่ระลึก เพราะคาดว่าจะไม่มีการจ่ายเช็คช่วยชาติเช่นนี้อีก ตามลำดับ

นอกจากนี้ หากพิจารณาในกลุ่มรายได้ พบว่า กลุ่มที่จะมีการเก็บออมมากที่สุด คือกลุ่มที่มีระดับรายได้ต่ำกว่า 7,500 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเห็นว่าสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ประกอบกับตนเองยังคงไม่แน่ใจในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงาน ทำให้เห็นว่าจะต้องมีการเก็บออมเอาไว้ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด เพื่อที่จะใช้ในยามฉุกเฉินหรือจำเป็น

สำหรับการใช้เงิน พบว่า 80.69% จะทำการแลกเป็นเงินสดทันที ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างให้เหตุผลว่า กลัวหาย ต้องการเก็บไว้ใช้นานๆ ต้องการออมทันที และสะดวกในการซื้อของมากกว่าเป็นเช็ค ตามลำดับ รองลงมาคือ 11.29% จะทำการซื้อสินค้าให้เหลือเงินทอนเพื่อไปซื้อของอย่างอื่น หรือออม ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างต้องการเก็บออมเพื่อใช้ในยามจำเป็น รองลงมาก็เป็นการสนองนโยบายของรัฐในการใช้จ่าย ตามลำดับ และ 8.01% ใช้เช็คดังกล่าวซื้อสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า การใช้เช็คดังกล่าวจะได้ส่วนลด เป็นอันดับแรก รองลงมาได้แก่ สามารถซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าเช็คได้

สำหรับระยะเวลาในการใช้เช็คกลุ่มตัวอย่าง 40.2% จะทำการใช้เช็คบางส่วนทันที ที่เหลือเก็บออม 21.8% จะทำการใช้จ่ายหมดทันทีเมื่อได้รับเช็ค 14.2% จะเก็บไว้ใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และ 12.4% จะใช้ก็ต่อเมื่อยามฉุกเฉินเท่านั้น ตามลำดับ

โดยสถานที่ของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่แลกเป็นเงินสด 38.25% จะไปใช้ในร้านค้าทั่วไปที่รับเช็ค 33.92% จะใช้ที่ห้างสรรพสินค้าที่รับเช็ค 15.44% จะซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อ 8.55% จะทำการซื้อที่ร้านค้าที่ให้มูลค่าสูงกว่าเช็ค และ 3.83% จะทำการซื้อยังสถานที่อื่นๆ ตามลำดับ

ด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 41.28% จะทำการใช้จ่ายน้อยกว่ามูลค่าเช็คที่ได้รับ 40.57% จะทำการใช้จ่ายเท่ากับมูลค่าเช็คที่ได้รับ และ 18.14% จะทำการใช้จ่ายเงินเท่ากับมูลค่าเช็ค รวมกับเงินส่วนตัวอีกส่วนหนึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 1,981.98 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น