xs
xsm
sm
md
lg

คลังประเมินใหม่จีดีพี-2.5% กรณ์เรียกหน่วยงานศก.ถกรายได้หลุดเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังประกาศลดเป้าจีดีพีปี 52 ลงเหลือ -2.5% หลังประเมินเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักหดตัวเร็วและแรงเกินคาด แต่ยังมีข่าวดีเศรษฐกิจไตรมาส 1 ต่ำสุดแล้วพร้อมที่จะขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสต่อๆ ไปหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเห็นผล ขณะที่ รมว.คลังเรียกด่วนหน่วยงานเศรษฐกิจถกปัญหาหลังรายได้หลุดเป้า

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552 ณ เดือนมีนาคม จะมีแนวโน้มหดตัวที่ -2.5% ต่อปี โดยมีช่วงประมาณการที่ -3.0 ถึง -2.0% ต่อปี ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 2.6% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยหดตัวลงเร็วและแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัว ตามยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและในประเทศที่ลดลง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากรายได้ของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ตามรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ประกอบกับความไม่แน่นอนในเรื่องการจ้างงาน

ทั้งนี้ บทบาทสำคัญในการชะลอการหดตัวของเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านรายจ่ายเพื่อการบริโภคและรายจ่ายเพื่อการลงทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้อุปสงค์ภายในประเทศไม่หดตัวลงอย่างรุนแรงมากนัก สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 จะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำที่ 0.7% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 0.2 - 1.2% ต่อปี ตามราคาน้ำมันที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพภายในคือ อัตราการว่างงานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2552 จะเกินดุลมากถึง 9.8% ของ GDP เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงในสัดส่วนที่สูงมากกว่ามูลค่าการส่งออก

“ในช่วงก่อนหน้านี้ สศค.ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 1 จะถึงจุดต่ำสุดและติดลบอย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่าในไตรมาสต่อๆ ไปเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยในไตรมาส 2 จะเริ่มฟื้นแต่ก็ยังติดลบอยู่ ไตรมาส 3 เริ่มเห็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมาขึ้น และในไตรมาส 4 จะเริ่มได้รับเงินจากงบประมาณปี 53 เข้าสู่ระบบ รวมทั้งโครงการเม็กกะโปรเจกต์และมินิโปรเจกต์ที่จะเดินหน้าได้อย่างเต็มที่จะเป็นส่วนร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นวีเชฟตามที่ สศค.ได้คาดไว้” นายสมชัยกล่าว

สำหรับเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ นอกจากจะได้รับอานิสงส์จากงบปี 53 และโปรเจกต์ต่างๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกแล้วยังมีผลจากตัวเลขในเชิงเทคนิกเนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วเศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุดเพียง -4.3% เท่านั้นทำให้ฐานต่ำ ประกอบกับปีนี้มีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเชื่อมั่นว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวกแน่นอน

ส่วนความกังวลต่อปัจจัยเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้คือ ตัวเลขดุลการค้าที่ออกมาเกินดุลสูงถึง 2.23 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งหากมองอย่างผิวเผินจะเสมือนว่าเป็นตัวเลขที่ดีแต่การเกินดุลที่เกิดขึ้นควรเป็นการเกินดุลอย่างมีคุณภาพไม่ใช่เกินดุลเนื่องจากตัวเลขนำเข้าลดลงดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 และที่สำคัญรัฐบาลจะต้องดูแลระบบสถาบันการเงินให้มีความแข็งแกร่งที่แท้จริงเพื่อให้เป็นตัวสนับสนุนอุปสงค์ที่แท้จริงในประเทศให้เกิดการใช้จ่ายและบริโภค

ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยด้วยว่า วันนี้ (26 มี.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมประชุมหารือเกี่ยวหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2552 หลังการจัดเก็บต่ำเป้าค่อนข้างสูงและมีสัญญาณไม่ค่อยดีนัก โดยประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2552 อยู่ที่ 1.58 ล้านล้านบาท ซึ่งเดิมเคยคาดว่ารัฐบาลอาจจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 130,000 ล้านบาท ซึ่งไม่แน่ใจว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีนี้จะต่ำกว่าเป้าเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาทหรือไม่ ภายใต้คาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 0-2% ซึ่งไม่แน่ใจว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีนี้จะต่ำกว่าเป้าเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาทหรือไม่

"ขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้เดิมแล้ว จึงต้องมีการหารือเพื่อวางแนวทางการดูแลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล แก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ พร้อมกับต้องมีการทบทวนเป้าหมายการจัดเก็บรายได้กันใหม่" นายสมชัยกล่าว

***ห่วงอัตราว่างงานเพิ่ม

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณของการหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกหดตัวลงมาก

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่ลดลงมากทำให้การส่งออกสุทธิและดุลการค้าเกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ การเร่งเบิกจ่ายภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัวลง สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่มีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนถึงเสถียรภาพภายนอกที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น