xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งแห่ขายอสังหาลด50% หนีกม.ฟอกเงิน-วิกฤตเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักลงทุนต่างชาติหนี ปปง.หลังกฎหมายฟอกเงินผ่านสภา ระบุบังคับซื้อบ้าน คอนโดมีเนียมหรือโครงการอสังหาฯ เกิน 2 ล้านต้องแจ้งธุรกรรม โบรกเกอร์ชื่อดังเชื่อกฎหมายใหม่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทย ยอมรับฝรั่งกำลังเทขายแบบขาดทุน ขณะที่โครงการพัทยา-สมุยดั๊มป์ราคา 50% ด้านผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ปี 52 “ธุรกิจปิโตรเคมี-ยานยนต์-โรงแรม-ภัตตาคาร” ปรับลดคนงานหนีวิกฤตเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า จี้รัฐเร่งสร้างความมั่นใจ

นโยบายการฟื้นภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นหนึ่งในแผนเร่งด่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ภาครัฐบาลหวังให้ธุรกิจอสังหาฯเป็นส่วนหนึ่งในหัวรถจักรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น มาตรการต่างๆที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง พุ่งเป้าไปที่ผู้ซื้อบ้านผ่านการใช้เครื่องมือทางภาษีในการจูงใจ ในทางกลับกัน กฏหมายต่างๆที่ออกตามมากลับเป็นข้อยุ่งยากในทางปฏิบัติ หลายข้อทำให้ผู้ประกอบการถึงกลับสายหัว เนื่องจากหากบังคับใช้อาจส่งผลให้การพัฒนาล่าช้าออกไปและนั้นก็หมายถึงต้นทุนที่จะเกิดตามมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการผ่านร่างกฏหมายของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยเพิ่มมูลฐานธุรกิจที่มักถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดย 1 ใน 8 มูลฐานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็คือ มูลฐานที่ 4 คือ ผู้ประกอบการอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อปปง.

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากมูลฐานของปปง.แล้วก็น่าเป็นห่วง เพราะนั้นหมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (โบรกเกอร์) ต้องรายงานการซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยด้วยเงินสดมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปปง.

ต่อกรณีดังกล่าว นายปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า  การที่ไทยมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา ย่อมเป็นสิ่งดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าไทยมีความประสงค์ที่จะป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งสำหรับผู้ที่บริสุทธิ์ใจต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของไทยจริงๆ ไม่ว่าจะเพื่อการลงทุนหรือเพื่ออยู่อาศัย การตรวจสอบเพียงเท่านี้ย่อมไม่ส่งผลกระทบ แต่หากมีเจตนาจะหลีกเลี่ยงไม่ว่ากรณีใดก็ตามย่อมคิดว่ากฎหมายข้อนี้มีความยุ่งยากและเป็นอุปสรรค์ต่อการซื้อ-ขาย

อย่างไรก็ตาม ต้องแยกนักลงทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ นักลงทุนสถาบันต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย และนักลงทุนสถาบันของไทย กลุ่มนี้ต้องการให้ตรวจสอบอยู่แล้ว เพื่อให้ภาพของตนเองโปร่งใส  ตรวจสอบได้  ส่วนอีกกลุ่มคือ ผู้ซื้อทั่วไป กลุ่มนี้อาจมีข้อยุ่งยากมากกว่ากลุ่มแรก เพราะผู้ซื้อบางส่วนจะไม่แจ้งมูลค่าการซื้อขายจริง หวังเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษี

“ถ้ามีความบริสุทธิ์ใจในการซื้อบ้านก็ไม่จำเป็นต้องกลัวกฎหมายฟอกเงิน เพราะในหลายประเทศต้องรายงานทุกอย่างไม่เฉพาะซื้อด้วยเงินสดเกิน 2 ล้านบาท และกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการยกระดับประเทศไทยให้ดีในสายตาต่างชาติว่า ไทยไม่ใช่แหล่งฟอกเงิน ถ้าต่างชาติมาซื้อบ้านในไทยเป็นหลังที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าซื้อบ้านเพื่อต้องการฟอกเงินย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน ” นายปฏิมา กล่าวและว่าสำหรับภาวะการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติในปัจจุบัน  ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าไม่มากเหมือนในอดีต เพราะทุกคนได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ เริ่มเห็นผู้ประกอบการชาวต่างชาติหลายราย เริ่มนำโครงการออกมาเทขายในราคาถูกเพื่อนำเงินกลับประเทศ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เกรงกลัวต่อกฎหมายฟอกเงินของไทย

อย่างไรก็ตาม ในภาวะเช่นนี้เหมาะที่จะออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานภาคอสังหาฯของไทย เพราะหากเศรษฐกิจดีจะทำได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกฎหมายฟอกเงินควบคุมอยู่แล้ว รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีความตั้งใจซื้อที่อยู่อาศัยในไทยจริงๆ ด้วยการขยายสัดส่วนการถือครองห้องชุดมากกว่า 49% ที่กำหนดอยู่ในปัจจุบัน โดยการจัดโซนเฉพาะในหัวเมืองสำคัญ เมืองท่องเที่ยว นอกจากนี้ ควรขยายระยะเวลาเช่าจาก 30 ปี เป็น 90 ปี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อของชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น

***ปปง.หวังไม่กระทบตลาดอสังหา
แหล่งข่าวจากปปง.กล่าวยอมรับว่า การเพิ่มมูลฐานที่ครอบคลุมไปถึงโบรกเกอร์บ้านมือสองจะเป็นเรื่องที่ดี ในการตรวจสอบธุรกรรมที่น่าสงสัย ทั้งนี้ คิดว่า การเพิ่มมูลฐานเข้าไปก็ไม่น่าจะส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะว่า ถ้าใครปฏิบัติดี ถูกต้อง ก็ไม่ต้องกังวล

“ สิ่งที่เราทำก็เพื่อป้องกันประเทศ ป้องกันระบบ และไม่คิดว่าจะเป็นการทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดการสะดุด ”แหล่งข่าวกล่าว

***แฉฝรั่งตื่นเทขายโครงการ
นายสหัชชัย ขวัญชื้น
ผู้อำนวยการฝ่ายขายโครงการพิเศษ (Auction) บริษัท ฮาริสัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า นับจากที่มีกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวออกมา ส่งผลให้โครงการที่อยู่อาศัยตามเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะ พัทยา และสมุย ประกาศขายลดราคากว่า 50% จำนวนหลายโครงการซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว และจากการประเมินพบว่า ในราคาดังกล่าวถือว่าขายขาดทุน จึงมีความเป็นไปได้ว่า บางโครงการที่ไม่มีที่มาที่ไปของเงิน ไม่ต้องการถูกตรวจสอบจนนำไปสู่การยึดทรัพย์ จึงเร่งขายเพื่อเอาเงินออกนอกประเทศ ก่อนที่จะถูกตรวจสอบ

“ กิจกรรมการซื้อ-ขาย อสังหาฯในเมืองท่องเที่ยวโดยเฉพาะพัทยากับสมุยส่วนมาก จะไม่มีที่มาที่ไปของแหล่งเงิน ซึ่งก็เท่ากับว่า มีบางส่วนที่เอาเงินมาฟอกในไทย ดังนั้น เมื่อมีการตรวจสอบย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดกลุ่มนี้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ในด้านของผู้ซื้อที่บริสุทธ์ ย่อมไม่ได้รับผลกระทบ แม้แต่การซื้อในโครงการที่เอาเงินมาฟอกก็ตาม เพราะโอนไปแล้ว อีกทั้ง หากซื้อในช่วงนี้ยังได้ราคาถูกอีกด้วย” นายสหัชชัยกล่าว

***ดึงโบรกเกอร์ขึ้นทะเบียนนายหน้า
นายวิศิษฐ์ คุณาทรกุล
ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เรียลตี้เวิลด์ อัลไลแอนซ์ จำกัด กล่าวว่า การซื้อขายบ้านมือสองในปัจจุบันกว่า 70% เป็นการซื้อขายกันเอง มีการซื้อขายผ่าน โบรกเกอร์เพียง 25% เท่านั้น ดังนั้น กฎหมายที่จะออกมาจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจบ้านมือสองที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย และถ้าจะให้กฎหมายได้ผลต้องมีการขึ้นทะเบียนนายหน้า เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้

อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญในการกำหนดให้ผู้ประกอบบางประเภทต้องรายงานการทำธุรกรรมที่ใช้เงินสดที่มีจำนวนเกินกว่าที่กำหนดในกฏกระทรวง หรือ เป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงานปปง. และกำหนดให้สถาบันการเงินจัดให้ลูกค้าแสดงตนก่อนทำธุรกรรม ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และเก็บรักษารายละเอียดเกี่ยวกับลูกค้าเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีการปิดบัญชี หรือยุติความสัมพันธ์กับลูกค้า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ต้องรายงานการทำธุรกรรม ได้แก่ 1.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการ ให้คำแนะนำ หรือการปรึกษาในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการลงทุน หรือเคลื่อนย้ายทุน ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 2.ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชร พลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณีเพชร พลอย หรือทองคำ 3.ผู้ประกอบอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ 4.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (โบรกเกอร์)

5.ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า 6.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคลภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลัง 7.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศกระทรวงการคลัง 8.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน 9. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

***สสช.สำรวจพบธุรกิจปลดคนเพิ่ม
นางธนนุช ตรีทิพยบุตร
เลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สสช.ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีพนักงาน 200 คน รวม 1,713 ราย เกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการแสดงความคิดเห็นและสะท้อนให้รัฐบาลทราบถึงผลกระทบพร้อมเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาให้ตรงจุดและสอดคล้องกับความต้องการเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 98.1% ยังคงดำเนินกิจการต่อไป แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ มีเพียง 0.6% ที่เปลี่ยนไปประกอบกิจการ ส่วนอีก 0.7% หยุดกิจการชั่วคราว และมีเพียง 0.6% ที่เลิกกิจการ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ปรับตัวรองรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ด้วยการลดจำนวนการจ้างลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว ปรับลดเวลาทำงานปกติและการทำงานล่วงเวลา

จากข้อมูลที่พบสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการทุกประเภทคาดการณ์ว่า ผลกระทบจากวิกฤตจะรุนแรงขึ้นมากในอีก 6 เดือนข้างหน้า เพราะผู้ประกอบการได้เลือกแนวทางปรับลดคนงานเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 10.2% เป็น 18% ขณะที่การเลือกลดเวลาทำงานปกติเพิ่มจาก 8.3% เป็น 13.6% ส่วนการลดลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มขึ้นจาก 19.1% เป็น 25.9% และการลดการทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นจาก43.3% เป็น 48.7%

อย่างไรก็ตามการเลือกปรับลดคนงานเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 23.1% เป็น 46.2% รองลงมาคืออุตสาหกรรมยานยนต์และจักรยานยนต์ จาก 9.5% เป็น 28.6% ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร จาก 14% เป็น 31% ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ จาก 4.1% เป็น 16.3% และการผลิตยางและพลาสติก จาก 5% เป็น 16.5%

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการมากถึง 51.9% ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี โดยธุรกิจการโรงแรม ภัตาคารและร้านอาหาร ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด 76.5% รองลงมา คือ ธุรกิจโฆษณาและบันเทิง 68.8% และธุรกิจปิโตรเคมี 61.5% และส่วนใหญ่เรียกร้องให้ลดภาษีการค้า ส่งเสริมการลงทุน/หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และส่งเสริมการส่งออก ส่วนข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการเรียกร้องได้แก่การสร้างเสถียรภาพความมั่นคงเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ลงทุน จำนวน 22.6% รองลงมาคือนโยบายรัฐบาลที่ชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 19.4% และลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 11.6%
กำลังโหลดความคิดเห็น