xs
xsm
sm
md
lg

ใบหุ้นปลอม "ปูนใหญ่" เคว้ง! ฉาวซ้ำไร้เงาผู้รับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้เสียหาย กรณี พนง.ปูนซีเมนต์ไทย ปลอมใบหุ้น แล้วแอบนำไปขาย โร่เข้าแจ้งความ หลังรอคำตอบจากบริษัทมานานถึง 2 เดือน คิดเป็นความเสียหายถึง 200 ล้านบาท พร้อมชี้ ประเด็นสำคัญ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการคืนหุ้น เป็นประเด็นที่ผู้เสียหายและบริษัท ต้องหาคำตอบร่วมกัน แต่บริษัทกลับปิดปากเงียบ ย้ำต้องการทราบเหตุผลว่าจะเข้ามาเยียวยาได้หรือไม่

นายพิบูลย์ศักดิ์ สุขพงษ์ ทนายความอิสระที่รับผิดชอบดูแลคดีใบหุ้นปลอมบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วานนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2552) ตนและนายวรรณพงษ์ รุ่งโรจน์วุฒิกุล ผู้จัดการมรดกตระกูลอมาตยกุล ซึ่งเป็นตัวแทนของนายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล อธิบดีศาลแรงงานภาค 6 ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกล่าวโทษนายประพันธ์ ชูเมือง อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนหุ้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กับพวก ในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ ปลอมแปลงเอกสารทางราชการ และทำให้ใบหุ้นเสื่อมค่า

โดยก่อนหน้านี้ นายประพันธ์ ได้นำใบหุ้น ปูนซิเมนต์ไทย ของตระกูลอมาตยกุล ไปทำการแตกเป็นจำนวนมากขึ้น แล้วนำไปหลอกขายให้กับนักลงทุน สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าความเสียหายที่คำนวณ ณ วันที่หลักทรัพย์ถูกขโมยตั้งแต่ปี 2547-2549 และได้บวกอัตราดอกเบี้ยปีร้อยละ 7.5 ไปแล้ว

ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้ประสานงานกับบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) หรือ ทีเอสดี ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำพนักงานสอบสวนเข้าพบและหารือในรายละเอียดต่างๆ ในวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2552 นี้

ส่วนการจะฟ้องคดีทางแพ่งหรือไม่นั้น ทางกองมรดก ขอใช้เวลาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนตัวเอง และหามาตรฐานระบบการซื้อขายหุ้น ซึ่งขณะนี้ตนอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของระบบการซื้อขายรวมถึงผู้ที่รับผิดชอบ ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ศูนย์รับฝากฯ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน เนื่องจากเป็นผู้ที่ดูแลระบบการซื้อขายหุ้นทั้งหมด ซึ่งในส่วนของ บล.เกียรตินาคินนั้น เท่าที่ได้หารือทาง บล.เกียรตินาคินระบุว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะทำตามคำสั่งซื้อขาย

นายพิบูลย์ศักดิ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสามารถชี้แจงข้อเท็จจริง รวมไปถึงระบบซื้อขายได้ และหากไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ อาจมีการฟ้องคดีแพ่งเพื่อหาคนรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับทางบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย เป็นระยะๆ และเรายินดีหากมีการคืนหุ้นในจำนวนที่หายไป แต่ต้องคำนวณมูลค่าตามวันที่ทรัพย์สินถูกละเมิดไป คือปี 2547 และ 2549 เบื้องต้นประมาณ 200 ล้านบาท โดยในกฎหมายกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

แต่ประเด็นสำคัญ คือ ความรับผิดชอบเรื่องการคืนหุ้นในขณะนี้จะอยู่ที่ใคร ซึ่งเป็นประเด็นที่เราและบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ต้องหาคำตอบร่วมกัน ซึ่งเรารอคำตอบมานานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2552 ที่มีการแจ้งความ ซึ่งที่เราสูญเสียไปต้องการคนรับผิดชอบที่ไม่ใช่ตัวพนักงานบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย แต่ปัจจุบันกระบวนการสอบสวนต้องใช้เวลาหลายวัน บริษัทจึงยังไม่ให้เหตุผลว่าจะเยียวยาเราได้หรือไม่

นายพิบูลย์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตระกูลอมาตยกุลได้ถือหุ้นอยู่ในหลายบริษัท ซึ่งเท่าที่รวบรวมมามีถึง 4 หน้ากระดาษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการถือในระยะยาว ไม่ต้องการขาย และหลังตรวจสอบแล้ว ก็ไม่มีใบหุ้นปลอมอีก นอกจากนี้ ยังมีหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ในส่วนของกองมรดก อีกจำนวน 2,000 หุ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2547-2549 ผู้รับมรดกได้รับเงินปันผลจากใบหุ้นปลอมที่หายไปประมาณ 20 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น