xs
xsm
sm
md
lg

แนะ บลจ.ตอบโจทย์ดอกเบี้ยต่ำ ชูโอกาสลุยหุ้น-อสังหาฯราคาถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกสมาคม บลจ.ชี้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความท้าทายสำคัญต่อธุรกิจกองทุนรวม แนะผู้ประกอบการ ต้องมีคำตอบให้ลูกค้า ที่เจอปัญหาดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ชูโอกาสลงทุนในหุ้น-อสังหาริมทรัพย์ หลังเจอภาวะ “Mispriced” ประเมินทั้งปีนี้ “ตราสารหนี้-แอลทีเอฟ-อาร์เอ็มเอฟ” เป็นพระเอก ย้ำเดินหน้าส่งเสริมรายย่อย ลงทุนผ่านกองทุนรวมต่อเนื่อง หลังตัวเลขล่าสุด 3 ธุรกิจ สัดส่วนขยับขึ้นมาอยู่ 51.81% ต่อเงินฝาก

นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) เปิดเผยว่า ความท้าทายของธุรกิจกองทุนรวมในปีนี้ คงหนีไม่พ้นภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นเช่นนี้ อุตสาหกรรมกองทุนรวม ต้องมีคำตอบให้ฐานลูกค้าซึ่งกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำมาก และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงไปอีก โดยโอกาสของการลงทุนในหุ้นในภาวะเช่นนี้คือ มีหุ้นใดที่ Mispriced หรือมีราคาขายในตลาดต่ำกว่าคุณค่าที่แท้จริง เพราะเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ราคาหุ้นพวกนี้จะปรับตัวสูงขึ้นไปสู่ราคาที่ควรจะเป็น ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นโอกาสที่ผู้จัดการกองทุนจะซื้อของดี ราคาถูกได้ ซึ่งรวมถึงภาคของอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นกัน

ทั้งนี้ จากความไม่แน่นอนในปัจจุบัน ทำให้การคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมทำได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับหลายๆ องค์ประกอบ แต่หากมองโอกาสโดยรวมในการขยายตลาดในปี 2552 คิดว่า โดยรวมจะขยายได้ไม่มากนัก โดยกองทุนรวมจะขยายที่ตราสารหนี้เป็นหลัก รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ด้วย

ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนหนึ่งอาจได้รับผลกระทบจากบริษัทที่ส่งเงินเข้ากองทุนไม่ไหวเพราะเศรษฐกิจส่งผล แต่เชื่อว่า ไม่น่าจะกระทบมากนัก ในขณะที่กองทุนส่วนบุคคล มีโอกาสขยายธุรกิจได้จากกลุ่มคหบดี ที่มีความเข้าใจการลงทุนที่ดีพอ โดยทาง บลจ. ต่างๆมีโอกาสเสนอทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เพราะว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดโอกาสให้กับธุรกิจนี้มากขึ้น

นางวรวรรณ กล่าวว่า สำหรับบทบาทของสมาคมต่อการส่งเสริมการลงทุนผ่านกองทุนรวม ยังคงบทบาทในการเป็นแกนกลางของอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการส่งเสริมให้รายย่อยลงทุนผ่านกองทุนรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งเรามีโครงการหลักที่จัดทำร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ โครงการให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม ที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เห็นได้จากประชาชนมีความตื่นตัวในการวางแผนการเงินและการลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น ขณะเดียวกัน สมาคมยังเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหาร่วมของอุตสาหกรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอีกด้วย นอกจากนี้ เราจะเน้นการเป็น SRO (Self Regulated organization) ซึ่งเราจะส่งผู้แทนของเราไปศึกษาเรื่องนี้และวางโครงร่างภายในกลางปี

ทั้งนี้ จากตัวเลขเงินฝากของบุคคลธรรมดาในธนาคารพาณิชย์ ต่อจีดีพี พบว่า ลดลงจาก 65.71% ในปี 2546 เหลือ 50.75% ในปี 2550 ในขณะที่สัดส่วนของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล ต่อเงินฝากของบุคคลธรรมดาในธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นจาก 29.03% ในปี 2546 มาเป็น 51.81% ในปี 2550 ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว แสดงว่าอุตสาหกรรมกองทุนมีบทบาทต่อการออมของประชาชนเพิ่มมากขึ้น คนใช้ทางเลือกลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น จากเดิมจะฝากเงินอย่างเดียว ซึ่งในอนาคต ทิศทางจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป เนื่องจากกองทุนมีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่าฝากเงิน โดยเฉพาะเมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากมีผลเต็มที่ คนจะหาช่องทางการลงทุนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปในปี 2551 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกองทุนรวมได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการณ์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งลามไปยังยุโรปและทั่วโลก ทำให้หุ้นที่ลงทุนในประเทศและที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศมีมูลค่าตลาดลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และกองทุนตราสารหนี้ก็ไม่เติบโต เนื่องจากผู้ลงทุนห่วงเรื่องความปลอดภัยของตราสารที่ลงทุน แต่อย่างไรก็ดี กองทุนที่ยังเติบโตได้ ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Public Property Fund) RMF และ LTF ซึ่งในส่วนของ LTF กับ RMF ที่ลงทุนในหุ้น แม้จะมีมูลค่าเอ็นเอวีต่อหน่วยลดลงไปมาก แต่ลูกค้ายังคงเพิ่มการลงทุนระยะยาวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การเติบโตของกองทุนตราสารหนี้จำนวนมากในปีก่อนๆ นั้น (2549-2550) มาจากกองทุนตราสารหนี้ที่ออกแบบมาให้คล้ายเงินฝาก ลงทุนในพันธบัตรเป็นหลัก แต่ให้ผลตอบแทนสุทธิที่ดีกว่าการฝาก

สำหรับการขยายตัวของธุรกิจกองทุนรวมในปี 2551 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 4.80 จากสิ้นปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1,533,570.1 ล้านบาท โดยขยับลงจาก 1,610,892.9 ล้านบาทในปี 2550 ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงต้นปีการเปิดขายกองทุนของบรรดา บลจ.จะมีออกมาอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้น หรือ กองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นไป ความต้องการลงทุนในธุรกิจกองทุนรวมเริ่มชะลอลงไปจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง เหตุการณ์การปิดสนามบิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนต่อการลงทุนในประเทศมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมาก

ในขณะที่ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การลุกลามของปัญหาวิกฤตการเงิน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจชั้นนำของโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างพร้อมเพรียงกันในปี 2552 อีกทั้งความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีระดับสูง ยังทำให้ภาวะการลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง

ส่วนบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายงานตัวเลขเงินลงทุนล่าสุดในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่า ทั้งระบบมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 465,296.44 ล้านบาท โดยตลอดช่วงปี 2551 ภาวะการลงทุนในตลาดจะไม่เอื้อมากนัก ทั้งในส่วนของตราสารทุนและตราสารหนี้ แต่ภาพรวมทั้งระบบก็มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 23,576.18 ล้านบาท จากช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งมีเงินลงทุนรวม 441,720.26 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 5.34%

ในขณะที่ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลในปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมของธุรกิจเป็นไปตามภาวะการลงทุนทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากผลกระทบของวิกฤตการเงิน อันนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้เงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลลดลงตามไปด้วย ซึ่งจากตัวเลขล่าสุด ทั้งปี 2551 ทั้งระบบมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 168,276.96 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเงินที่ลดลงประมาณ 7,203.75 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวม 175,480.71 ล้านบาทในปี 2550 โดยการปรับลดลงดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนการลดลง 4.11%
กำลังโหลดความคิดเห็น