xs
xsm
sm
md
lg

โบรกเกอร์Q4ขาดทุนอ่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โบรกเกอร์ขาดทุนไตรมาส 4/51 รวม 1.25 พันล้านบาท เหตุตั้งสำรองสำรองเผื่อหนี้สูญ-ขาดทุนพอร์ตถึง 2.11 พันล้านบาท กำไรรวมปี 51 เพียง 2.45 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 63% ทุบสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปี หลังต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ-ขาดทุนพอร์ต สูงถึง 2.43 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% จากปกติที่ไม่ถึง 1% โดยได้รับผลพวงจากภาวะตลาดหุ้นซบเซา พร้อมคาดการณ์ปีนี้ภาวะตลาดหุ้นยังซบเซา กระทบหนักบล.ที่มีฐานลูกค้ากระทบจากฝรั่งลดสัดส่วนการลงทุน แนะเก็งกำไรบล.กิมเอ็ง จากมีจุดคุ้มทุนวอลุ่มเฉลี่ยต่อวันเพียง 5-6 พันล้านบาท

ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่ก่อให้เกิดวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ และลุกลามสู่หลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้ส่งต่อระบบสถาบันการเงินและทำให้สภาพคล่องการเงินตรึงตัว จนนักลงทุนต้องเทขายเงินลงทุนที่กระจายอยู่ทั่วโลก เพื่อนำเงินกลับประเทศไว้เสริมสภาพคล่อง ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศต่างปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและถ้วนหน้า

จากปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานบริษัทหลักทรัพย์ โดย ASTV ผู้จัดการรายวัน ได้รวบรวมข้อมูลผลประกอบการของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 43 แห่ง (ที่เป็นสมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์) ประจำงวดไตรมาส 4 สิ้นสุด ณ 31 ธันวาคม 2551 พบว่า บริษัทหลักทรัพย์มีผลขาดทุนรวมถึง 1,257 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและการตั้งสำรองเงินด้อยค่าจาการลงทุน 2,119 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานรวมปี 2551 มีกำไรสุทธิรวม 2,456 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 63% ที่กำไรสุทธิ 6,568 ล้านบาท นับเป็นกำไรสุทธิที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับกำไรเฉลี่ยของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่ปกติอยู่ที่ประมาณปีละ 4-6 พันล้านบาท

โดยสาเหตุที่ทำให้ผลการดำเนินงานธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2551 ปรับตัวลดลง เกิดจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและการตั้งเงินด้อยค่าจากการลงทุนจำนวนมากถึง 2,432 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด จากปกติที่มีไม่ถึง 1% ซึ่งเป็นสาเหตุให้บล.ส่วนใหญ่ขาดทุนโดยเป็นผลกระทบกับจากภาวะตลาดที่ผันผวนมากในช่วงเดือนตุลาคม 2551

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2546 – 2550 มีกำไรสุทธิรวม 9,985 ล้านบาท, 4,072 ล้านบาท, 5,391 ล้านบาท , 5,247 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,568 ล้านบาท ตามลำดับ

บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด ประเมินแนวโน้มผลประกอบการกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2552 ว่า บริษัทหลักทรัพย์ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัว ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยหลังที่จะกดดันภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงซบเซา เนื่องจากธุรกิจหลักทรัพย์ยังมีรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์

สำหรับโครงสร้างรายได้ของบริษัทหลักทรัพย์ คาดว่าจะยังมีสัดส่วนรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์ถึง 70% และรายได้ค่าธรรมเนียมวาณิชธนกิจประมาณ 7% ซึ่งจะแปรผันตามภาวะการแข่งขันและมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“เราคาดการณ์ผลประกอบการของกลุ่มหลักทรัพย์ ในปี 2552 จะมีกำไรสุทธิลดลงประมาณ 12.6% ดังนั้นจึงแนะนำการลงทุนโดยให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาด (Underweight) สำหรับกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์”

ส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเหลือเพียง 20% ในสิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/51 ที่มีสัดส่วนถึง 31% และจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวนั้นทำให้มีแนวโน้มว่าสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติจะลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกระทบต่อบริษัทหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก อาทิ บล.ภัทร ที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศสูงถึง 56% ขณะที่บล.ที่จะได้ประโยชน์ คือ บล.ที่มีลูกค้าหลักคือ กลุ่มลูกค้ารายย่อยมากกว่า 80% ได้ แก่ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บล.เอเชีย บล.บีฟิท และบล.ซีมิโก้ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ในไตรมาส 3/51 ถึงปัจจุบัน

พร้อมกันนี้ บล.ทรีนีตี้ ได้ประเมินว่า ในปี 2552 นี้ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันจะอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์โดยตรง แม้แนวโน้มค่าใช้จ่ายต่างๆ จะลดลง เพราะบล.ต่างพยายามลดต้นทุนในส่วนพนักงานที่คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 70% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด การตั้งค่าเผื่อหนี้ฯและการขาดทุนจากการลงทุนจะลดลง เนื่องจาก บล.แต่ละแห่งได้พยายามปรับแผนบริหารความเสี่ยงทั้งด้านลูกหนี้ และการลงทุนให้รัดกุมมากขึ้นโดยพยายามลดยอดสินเชื่อจากเดิมที่คิดเป็นประมาณ 31% ในปี 2550 เหลือเพียง 20% ในปี 2551 เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากภาวะตลาดที่ยังมีแนวโน้มผันผวนจากวิกฤตโลก

ด้านกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์นั้น นักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรระยะสั้นในช่วงตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 52 แนะนำให้เข้าเก็งกำไร บล.กิมเอ็งฯ ที่จะได้รับประโยชน์ในช่วงที่นักลงทุนรายย่อยในประเทศมีบทบาทมากขึ้น และนักลงทุนต่างชาติมีบทบาทน้อยลง มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในตลาดหุ้น และตลาดอนุพันธ์ และมีจุดคุ้มทุนของมูลค่าการซื้อขายต่ำที่สุด หรือสามารถมีจุดคุ้มทุนได้หากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ระดับ 5-6 พันล้านบาท บวกกับมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เพราะในช่วงที่ตลาดผันผวน มีการตั้งสำรองหนี้สูญฯยังอยู่ในระดับปกติ

ขณะที่ บล.บัวหลวง บล.ภัทร บล.เอเซียพลัส จะสามารถคุ้มทุนให้หากตลาดมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยุ่ที่ระดับ 7-8 พันล้านบาท ส่วนบล.ซีมิโก้ และบล.บีฟิทมีจุดคุ้มทุนที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 1-1.1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นหลักทรัพย์ยังคงมีความเสี่ยงสูงท่ามกลางสภาวะตลาดที่มีความผันผวน นักลงทุนควรระมัดระวังในการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น