xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ใช้ทรัสต์กระตุ้นตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต. สนองนโยบายรัฐ กระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้นสุดโต่ง ปัดฝุ่นใช้ทรัสต์เป็นตัวเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุน แก้ข้อจำกัด หุ้นกู้ ESOP แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และ DW ด้วยไอเดียเก๋ตั้งกองทรัสต์เพื่อรายใหญ่ลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้าน กองทรัสต์อสังหาฯ เป็นต้น พร้อมร่วมขจัดอุปสรรคการควบรวมโบรกเกอร์ในอนาคต ให้กำหนดลูกค้าบล.ทำสัญญาพร้อมโอนไปบล.ใหม่ที่ควบรวมแล้วเสร็จ และทบทวนคุณสมบัติของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น โดยเฉพาะในส่วนของการให้คำแนะนำและรับคำสั่งซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.คาดว่าจะมีการประกาศกฎเกณฑ์ การจัดการสินทรัพย์โดยใช้ ทรัสต์ ได้ในช่วงไตรมาส3/2552 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นคุณสมบัติของผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นทรัสตีซึ่งจะเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินทรัพย์ให้ และประเภทธุรกรรมที่อนุญาตให้ใช้ทรัสต์ได้ หลังจากนั้นก.ล.ต.จะมีการเปิดรับฟังความเห็นในเรื่องเกณฑ์ในการทำธุรกรรมดังกล่าวต่อไป เพื่อไม่ให้ใช้ทรัสต์เป็นเครื่องมือเลี่ยงกฎหมายอื่น เช่น การใช้ทรัสต์ถือหุ้นแทนนักการเมือง

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้มีการเพิ่มให้บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์)สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นทรัสตีได้ จากแต่เดิมที่จะอนุญาตให้ทางธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะในการจัดตั้งขึ้น โดยผู้ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวนั้น จะต้องมีเงินทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท มีการดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ที่กำหนด และไม่มีลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยจะใช้เกณฑ์ที่เข้มที่สุดระหว่างหลักทรัพย์และอนุพันธ์

“ผู้ที่จะเป็นทรัสตีนั้นจะต้องมีระบบงานส่วนใหญ่เช่นเดียวกับระบบงานของผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม เช่น ระบบการเก็บรักษาทรัพย์สินระบบจัดทำบัญชีทรัพย์สิน ระบบการติดตามดูแลสิทธิประโยชน์ และจะต้องมีระบบงานเพิ่มเติมเช่น ระบบจัดตั้งทรัสต์ ระบบในการรู้จักลูกค้า (KYC) ในการกำหนดมูลค่าทรัพย์สินต่างๆของกองทรัสต์ ระบบในการทำทะเบียนผู้รับประโยชน์ ”นายประเวชกล่าว

นายประเวช กล่าวว่า การนำทรัสต์มาใช้ในตลาดทุนนั้น เพื่อแก้ไขข้อจำกัดบางประการในการระดมทุนหรือ Passive trust เช่น การออกหุ้นกู้ ,การออกเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ(ESOP), ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW),การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เพราะ การออกหุ้นกู้จะมีความเสี่ยงจาก ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีกระแสเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นกู้เข้ามาในบริษัท เม็ดเงินสดจะถูกนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจและเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ตามหุ้นกู้ทำให้ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงในการได้รับชำระหนี้คืนและดอกเบี้ย ขณะที่หุ้นESOP นั้นอาจมีปัญหาผู้รับช่วงซื้อหุ้นลักทรัพย์ฉ้อฉลหรือผิดสัญญา เช่นเดียวกับ DWนั้นอาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับส่งมอบหุ้นหากผู้ออกล้มละลาย

นอกจากนี้เพื่อสร้างรูปแบบการลงทุนที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักลงทุนเข้ามาลงทุน (Active Trust) ก.ล.ต.จึงมีแนวคิดอยู่ 5 รูปแบบ คือ 1.จัดตั้งกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบัน (ไฮด์เน็ตเวิร์คฟันด์ทรัสต์) ซึ่งมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทขึ้นไป โดยผู้ก่อตั้งทรัสต์ จะเป็นผู้เลือกทรัสตี เข้ามาในการบริหารกองทุนและทำหน้าที่ระดมทุนเงินทุนจากนักลงทุนมาบริหาร โดยถือว่ากองทุนนี้จะมีการยืดหยุ่นในเรื่องการลงทุนมากกว่าและสามารถมีการลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้

2.การตั้งกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาสริทรัพย์ (REIT) 3. การจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจในรูปทรัสต์ (SPT) เพราะจะมีความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นจริงจึงทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว 4. การใช้ทรัสต์ในโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง 5.การออกอิสลามิกบอนด์ เพื่อตรงกับการลงทุนของนักลงทุนที่เป็นอิสลาม

“การนำทรัสต์มาใช้ในตลาดหุ้นนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ในการลงทุนให้กับนักลงทุน และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตลาดทุนไทย พร้อมยังเป็นการแก้ไขข้อจำกัด บางประการในการระดมทุนในเรื่องความเสี่ยง เช่น การออกหุ้นกู้ การออกDE หุ้นอีสป ” นายประเวช กล่าว

อนึ่งทรัสต์ คือ การจัดการทรัพย์สินรูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ของบุคคลในสัญญาทรัสต์ที่ประกอบด้วย 1 ผู้ก่อตั้งทรัสต์ 2. ทรัสตี และผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นความสัมพันธ์บนความไว้ใจกันที่ผู้ก่อตั้งทรัสต์ยอมมอบกรรมสิทธิ์และสิทธิต่างๆ เหนือทรัพย์สินให้แก่ทรัสตี เพื่อให้ทรัสตีบริหารหรือจัดการทรัพย์สินหรือสิทธิเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของผู้รับประโยชน์ โดยหากทรัสตีทำหน้าที่ทำให้ผู้รับผลประโยชน์ได้รับความเสียหายหรือไม่เป็นไปตามสัญญาผู้รับผลประโยชน์สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

**ร่วมขจัดอุปสรรคควบรวมโบรกฯ**

นอกจากนี้ ในการประชุมระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ได้มีการหารือแนวทางการควบรวมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งเดิมมีปัญหาว่ากรณี บล. จะควบรวมกิจการนั้น จะมีอุปสรรคที่ต้องเสียเวลาขอความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้าเสียก่อน จึงมีความจำเป็นต้องหาวิธีแก้ปัญหานี้ โดยในการหารือได้ข้อสรุปว่า สมาคมจะกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับ บล. ทุกแห่ง ให้ใช้ข้อความมาตรฐานในสัญญาเมื่อลูกค้ารายใหม่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ว่า หากมีการควบรวมกิจการในอนาคต ลูกค้าตกลงยินยอมโอนไปเป็นลูกค้าของ บล.ใหม่ภายหลังการควบรวมกิจการ โดย บล.จะมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกค้าก่อน แต่ทั้งนี้หากลูกค้าไม่ประสงค์จะโอนเป็นลูกค้าของ บล.ใหม่ก็สามารถปิดบัญชีเพื่อโอนย้ายไป บล. อื่นได้ และสำหรับลูกค้ารายเดิมจะกำหนดให้ บล. ติดตามให้ลูกค้าทุกรายลงนามในสัญญามาตรฐานข้างต้นให้ครบถ้วนภายในระยะเวลา 1 ปี โดย ก.ล.ต. จะมีหนังสือเวียนแจ้ง บล. ทุกแห่งให้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่สมาคมกำหนดข้างต้นต่อไป

พร้อมกันนี้ ในการประชุมครั้งนี้สำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมได้ร่วมมือกันที่จะสนับสนุนให้ บล. ดำเนินธุรกิจได้สะดวก และคล่องตัว โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาทบทวนคุณสมบัติของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการให้คำแนะนำและรับคำสั่งซื้อขายตราสารอนุพันธ์ เพื่อเสริมจำนวนบุคลากรให้เพียงพอกับปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

**ปัดผลสรุปปรับโครงสร้างหนี้ TSFC**

ส่วนแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (TSFC) นายประเวช ให้ความเห็นว่า ยังไม่ได้ถูกส่งมายังก.ล.ต. โดยวานนี้(12ก.พ.)จะเป็นวันสุดท้ายที่จะนำส่งแผน ทำให้ ก.ล.ต. ไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้เนื่องจากจะเป็นการชี้นำ นอกจากนี้ประเด็นดังกล่าวยังเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้กระบวนการดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจเจ้าหน้าที่รายที่เป็นเจ้าหนี้สถาบันรวมถึงผู้ถือหุ้นว่าจะมีดุลพินิจในแผนดังกล่าวอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น