xs
xsm
sm
md
lg

ชงโมเดล "สึนามิฟันด์" อุ้มธุรกิจ-ลดปลดแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พิชิต" เสนอตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชงรูปแบบเดียวกับ " สึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ " น่าสน ดึงเอกชนร่วมลงขันกับสถาบันการเงินของรัฐ ใส่เงินร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ-เอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ให้สามารถดำเนินกิจการต่อ พร้อมช่วยลดการเลิกจ้าง กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัว มองใช้เวลา 3-5 ปี เยียวยาได้

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด เปิดเผยถึงการที่ประธานสภาองค์กรลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลกู้เงินจากกองทุนประกันสังคม (สปส.) มาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยแทนการกู้เงินจากต่างประเทศว่า ในส่วนนี้ มองว่าน่าจะเป็นช่องที่มองเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน เพราะเป็นลักษณะของการกู้เงินจากภาคแรงงานเข้ามาภาคแรงงานด้วยกัน นั่นคือ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดการเลิกจ้าง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนนี้เอง สปส. ได้ประโยชน์ทางอ้อม เพราะในเชิงสังคมกับเงินที่จะได้กลับมา เพราะหากมีการเลิกจ้างน้อยลง เงินที่ส่งเข้ามาสมทบในระบบประกันสังคมก็จะไม่ลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ เท่าที่ทราบในเบื้องต้น สปส.จะได้รับดอกเบี้ยจากการให้รัฐบาลกู้ในครั้งนี้ในอัตรา 1% ซึ่งหากสปส. นำเงินในส่วนนี้ไปลงทุนด้วยการฝากธนาคาร ก็ไม่น่าจะได้ผลตอบแทนแตกต่างจากดอกเบี้ย 1% ในการให้กู้ดังกล่าว

ส่วนช่องทางในการระดมทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ 2 ซึ่งบลจ.เอ็มเอฟซี เป็นที่ปรึกษาให้กระทรวงการคลังนั้น มองว่าการตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเรื่องการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีทั้งผลตอบแทนในรูปของเงินและสังคม ซึ่งปัจจุบันถือว่าคุ้มค่ามาก แต่หากมองช่องทางที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเลิกจ้าง เพิ่มการจ้างงาน การตั้งกองทุนในรูปแบบเดียวกับกองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ หรือกองทุน สึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ น่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมกว่า

นายพิชิต กล่าวว่า หากมองว่าปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขึ้นจนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก จะมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยจนทำให้ธุรกิจไทยดำเนินกิจการต่อเนื่องไม่ได้ การตั้งกองทุน สึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ น่าจะเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาได้อีกช่องทางหนึ่ง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นมีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ ผู้ประกอบการอาจจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

โดยรูปแบบของกองทุน สึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์นั้น เป็นการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติจากจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยและคลื่นยักษ์สึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ด้วยการเข้าไปร่วมลงทุนเพื่อฟื้นฟูให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นดำเนินกิจการต่อไปได้

สำหรับช่องทางในการระดมทุนนั้น นายพิชิตกล่าวว่า อาจจะระดมทุนมาจากสถาบันการเงินของรัฐเช่นเดียวกับกองทุน สึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ รวมถึงอาจจะระดมทุนจากภาคเอกชนบางส่วนก็ได้ ซึ่งการตั้งกองทุนนี้ ถือว่าเป็นลักษณะซอร์ฟโลนเช่นเดียวกันการกู้เงินจากกองทุนประกันสังคม แต่ในส่วนนี้อาจจะไม่จำกัดดอกเบี้ย 1 % ก็ได้ ส่วนระยะเวลาในการร่วมลงทุนนั้น มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน น่าจะฟื้นฟูได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปี ดังนั้น การตั้งกองทุนก็อาจจะกำหนดอายุไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน

"ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี มีปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันการกู้ยืมเงินในระบบค่อนข้างมีข้อจำกัด เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่ ชะลอการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น หากจะเก็บดอกเบี้ยสูงกว่า 1% อาจจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเหล่านี้ เพราะการขาดสภาพคล่องน่าจะเป็นปัญหาสำคัญกว่า"นายพิชิตกล่าว

สำหรับรายละเอียดของกองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ (Tsunami Recovery Fund) จัดตั้งขึ้นโดยนโยบายของกระทรวงการคลัง เป็นการระดมเงินลงทุนจากผู้ลงทุนสถาบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ธนาคารออมสิน และธนาคารพาณิชย์ต่างๆที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทยจำนวน 12 แห่ง โดยมีบลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการลงทุน โดยมุ่งที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล ระนอง และตรัง ให้สามารถฟื้นตัวมาดำเนินกิจการต่อไปได้ในลักษณะของการเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้หรือตราสารทุน โดยกองทุนจะเข้าไปถือหุ้นเบื้องต้นกิจการละไม่เกิน 350 ล้านบาท โดยกองทุนฯไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าไปครอบงำกิจการแต่อย่างใด การเข้าไปถือหุ้นของกองทุนฯ มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนคือ ประมาณ 10 ปี และหากผู้ประกอบการรายใดสามารถฟื้นตัวได้ก่อนก็สามารถไถ่ถอนหุ้นคืนได้ ซึ่งคาดว่าภายใน 3-5 ปี ผู้ประกอบการจะสามารถฟื้นตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ทั้งนี้ เป้าหมายของกองทุน สึนามิ รีคัฟเวอรี่ ฟันด์ นอกจากจะเข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยเหลือภาคแรงงานในพื้นที่ ด้วยการสร้างงานและกระจายรายได้ให้กับพนักงานท้องถิ่นอีกด้วย

ส่วนแนวคิดในการกู้เงิน สปส. นั่น เป็นแนวคิดของ นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์กรลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ที่ได้เสนอให้รัฐบาลกู้เงินจากกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่กว่า 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสถาบันการเงินของรัฐบาล ให้สามารถมีเงินเพียงพอที่จะปล่อยกู้ หรือค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่อง ทดแทนการกู้เงินจากต่างประเทศจำนวน 7 หมื่นล้านบาท โดยใช้วิธีการออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลให้กองทุนประกันสังคมซื้อ โดยหลังจากมีแนวคิดดังกล่าวออกมา ในส่วนของกระทรวงแรงงานเอง ก็ออกมาแสดงความเห็นด้วย โดยจะเสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาและศึกษาวิธีการในการปฏิบัติ พร้อมทั้งหารือการกำหนดเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เงินในกองทุนประกันสังคมหมด และมีเงินเพียงพอในการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน
กำลังโหลดความคิดเห็น