xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ยอมเดินหน้าแผนลงทุนปั๊ม "เอ็นจีวี" เปิดช่องเอกชนลุยก่อน 50 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.ยันเดินหน้าแผนลงทุน "เอ็นจีวี" ลั่นสร้างปั๊มเพิ่มปีนี้ 400 แห่ง แน่นอน พร้อมเปิดทางเอกชนลงทุนทำปั๊มเอ็นจีวี เพราะต้องใช้เม็ดเงินสดลงทุนสูงถึงปั๊มละ 30 ล้านบาท ยอมหั่นกำไรค่าการตลาด 2 บาท แลกความเสี่ยงลงทุนเอง "สยามราชธานีฯ" ประเดิมเปิดปั๊มเอ็นจีวีเอกชนแห่งแรก 50 แห่ง วงเงินลงทุน 1.5 พันล้าน โดยใช้ชื่อ "สยามราช NGV"

นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.มีเป้าหมายที่จะให้เอกชนรายอื่นๆ ที่มีความพร้อมลงทุนสร้างสถานีก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) เพื่อลดภาระการลงทุนของ ปตท. ปีนี้ มีแผนที่จะให้เอกชนมาลงทุนสร้างสถานีเอ็นจีวีประมาณ 50 แห่ง ปตท.ลงทุนเอง 350 แห่ง

นายณัฐชาติ ยืนยันว่า ปตท.มีแผนที่จะสร้างปั๊มเอ็นจีวี 400 แห่งสิ้นปีนี้ การที่มีเอกชนรายอื่นมาลงทุนจะช่วยลดภาระ ปตท.ได้ 50 สถานี เนื่องจากแต่ละสถานีจะต้องลงทุนกว่า 30 ล้านบาท หรือช่วยลดงบลงทุนได้ 1,500 ล้านบาท ปีนี้

การที่เอกชนรายอื่นสนใจลงทุนสถานีบริการเอ็นจีวี ทั้งที่ราคาเอ็นจีวีถูกตรึงอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้ได้เตรียมการไว้ระยะหนึ่งแล้วบนพื้นฐานว่าจะมีการปรับราคาเอ็นจีวีต้นปีนี้ แต่หลังจากรัฐบาลให้ตรึงราคาไว้ ต้องดูว่าเอกชนยังสนใจหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ปตท.ได้กำหนดให้ค่าการตลาดเอ็นจีวีกับสถานีบริการของเอกชนอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท แม้ว่าจะทำให้ ปตท.ขาดทุนมากขึ้น แต่ก็สามารถทดแทนภาระการลงทุนขยายสถานีบริการเอ็นจีวีของ ปตท.ได้

"การที่มีเอกชนมาช่วยลงทุนสร้างปั๊มเอ็นจีวี ช่วยให้การขยายปั๊มทำได้ตามเป้าหมายเร็วขึ้น เพราะเอกชนมีความคล่องตัวในการลงทุนมากกว่า ปตท. โดยเฉพาะการจัดหาที่ดิน"

นายณัฐชาติ กล่าวว่าก่อนหน้านี้มีเอกชนหลายรายสนใจที่ จะจำหน่ายเอ็นจีวี โดย ปตท.เสนอให้ติดต่อใช้แบรนด์จากบริษัทเอกชนรายอื่น เช่น สยามราชธานี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปีนี้ปตท.จะเน้นกลยุทธ์ให้เอกชนลงทุนสร้างสถานีเองเพื่อลดภาระ ปตท.

นายปุณณชัย ฟูตระกูล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ปตท. กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการทบทวนแผนการขยายสถานีบริการ เอ็นจีวี ปตท.ทั้งหมด โดยล่าสุดเป้าหมายสถานีบริการเอ็นจีวี ปี 2552 ปรับลดลงจาก 450 แห่งในสิ้นปีเหลือ 380-400 แห่ง ซึ่งจะทำให้การขยายสถานีเอ็นจีวีในช่วงสิ้นแผน หรือในปี 2555 ต่ำกว่า 740 แห่ง ตามไปด้วย

ปัจจุบันมีสถานีบริการเอ็นจีวีรวม 303 แห่ง และหากรวมสถานีเอ็นจีวีของบริษัทสยามราชฯ จะเพิ่มเป็น 304 แห่ง โดยมีรถขนส่งเอ็นจีวีรวม 906 คัน สถานีจ่ายก๊าซขนาดใหญ่ (ซูเปอร์สเตชั่น) จำนวน 2 แห่ง ในย่านร่มเกล้า และสายใต้ใหม่ ซึ่งในปีนี้ ปตท.จะเปิดอีก 3 แห่ง บน ถนนกาญจนาภิเษก และถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งขาเข้า-ขาออก

โดยในวันนี้ ปตท.จะมีการเปิดตัวสถานีก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ขายปลีกแห่งแรกที่เอกชนลงทุนเองทั้งหมด ของบริษัท สยามราชธานี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ใช้เงินลงทุน กว่า 30 ล้านบาท ภายใต้ชื่อแบรนด์ใหม่ คือ “สยามราช NGV” โดย ปตท.เป็นผู้จัดส่งก๊าซเอ็นจีวีให้เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น