xs
xsm
sm
md
lg

“ลีสซิ่ง” วูบตามยอดขายรถ ยอดตก 20-30% หนี้เน่าพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลีสซิ่งกสิกรไทย ชี้ ปีวัวยอดขายรถยนต์วูบ 20-30% ดึงธุรกิจลีสซิ่งล่วงตาม ระบุเลิกบุกตลาด หันดูแลหนี้ในพอร์ตไม่ให้กลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น แต่เริ่มเห็นสัญญาณการค้างชำระเพิ่มแล้ว ยันหากลูกหนี้มีปัญหาพร้อมเข้าช่วยเหลือ ระบุ กนง.ลดดอกเบี้ยได้อีก 1% ส่วนดอกเบี้ยลีสซิ่งก็มีโอกาสลดลงตาม แต่ไม่มากขึ้นอยู่กับคุณภาพหนี้รับคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 2% เป็นสิ่งท้าทาย

นายอิสระ วงศ์รุ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่ง กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2552 นี้ยอดขายรถยนต์ของทั้งระบบคงจะมีการปรับตัวลดลงประมาณ 20-30% เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และคาดว่า ยอดขายรถยนต์อาจจะไม่ถึง 5 แสนคัน ทั้งนี้หากตลาดรถยนต์มีการหดตัวก็จะมีผลต่อธุรกิจลีสซิ่งโดยตรง ทำให้มองว่าในปีนี้การทำธุรกิจลีสซิ่งก็จะมีการปรับตัวลงตามประมาณ 20-30% เช่นกัน และจากภาวะตลาดที่ไม่สดใสนี้ ทำให้การแข่งขันก็คงจะมีลดลงหรืออาจจะไม่มีเลย โดยส่วนที่ทางผู้ประกอบการจะทำพยายามทำก็คือ การรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตัวเองเอาไว้

ส่วนสิ่งที่จะเน้นมาก คือ การดูแลลูกหนี้ในพอร์ต เพราะในภาวะที่ไม่ดี อาจทำให้ศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้จะน้อยลง คนที่มีงานทำอยู่ก็อาจตกงานได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็จะมีผลต่อตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้ส่วนลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาก็จะต้องมีการคัดเลือกที่เข้มงวดมากขึ้น

“ปีนี้คงบุกตลาดไม่ได้มาก จะเน้นบริหารจัดการดูแลลูกหนี้ในพอร์ต เพราะมันมีแนวโน้มจะเสี่ยงสูงขึ้น เอ็นพีแอลก็อาจจะปรับขึ้นได้ตามภาวะเศรษฐกิจ คนตกงานมาก ใช้จ่ายฝืดเคืองก็จะมีผลสะท้อนมาที่การชำระหนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงก็มีผลเพราะลูกค้าที่ทำเกษตรก็พอมี เมื่อภาวะเป็นแบบนี้ก็คงไม่มีใครบุกตลาดมากนัก และปีนี้เราคงเห็นลีสซิ่งที่ไม่ใหญ่หลายแห่งต้องหยุดทำกิจการเพราะรับต้นทุนไม่ได้เพราะเงินทุนไม่เพียงพอ”

นายอิสระ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตาดูในขณะนี้คือเรื่องของผลการเรียกเก็บและการชำระหนี้ โดยจะต้องดูว่าลูกค้าที่จ่ายชำระหนี้ตรงเวลาในขณะนี้เป็นอย่างไร อัตราการค้างชำระหนี้เป็นอย่างไร ซึ่งปกติจะแบ่งเป็นลูกหนี้ที่จ่ายตรงเวลา จ่ายล่าช้า 1-31 วัน และเกินกว่า 31-60 วัน จากนั้นก็จะเป็นเอ็นพีแอล และหากลูกหนี้ที่เคยจ่ายตรง เริ่มกลายมาอยู่ในกลุ่มที่จ่ายล่าช้า 1-31 วัน ก็จะเป็นตัวสะท้อนว่าคุณภาพหนี้เริ่มไม่ดีแล้ว ก็ต้องเข้าไปติดตามจากตัวลูกหนี้ว่ามีปัญหาส่วนไหน จากนั้นก็จะดำเนินการช่วยแก้ปัญหา ซึ่งอาจทำโดยปรับโครงสร้างหนี้ หรือยืดหนี้ เป็นต้น โดยขณะนี้ได้เริ่มเห็นสัญญาณของหนี้ปกติเข้ามาอยู่ในส่วนของการจ่ายล่าช้าแล้ว

ส่วนแผนการทำธุรกิจลีสซิ่งในปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะปล่อยสินเชื่อประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยจะเป็นส่วนที่ธนาคารกสิกรไทยช่วยหาลูกค้าทั้งรายใหม่และที่มีรีไฟแนนซ์ประมาณ 8,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2551 ที่ผ่านมา เดิมตั้งเป้าหมายว่าจะปล่อยสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท แต่พอร์ตสิ้นปีน่าจะได้อยู่ที่ 33,000-34,000 ล้านบาท เพราะปัจจัยในตลาดโดยรวมไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

สำหรับมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นมองว่าน่าจะมีการปรับลดลงได้อีกประมาณ 1% ตามการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งในส่วนอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจลีสซิ่งจะมีการปรับลงตามหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ส่วนหนึ่งที่จะใช้ในการตัดสินใจก็คือคุณภาพของหนี้จะมีการด้อยลงไปหรือไม่ เพราะถ้าคุณภาพหนี้ ด้อยคงก็คงไม่สามารถจะลดดอกเบี้ยได้เพราะต้องมีการสำรองเงินเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ไม่ได้สะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยของลีสซิ่งมากนัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นระยะสั้น แต่ของลีสซิ่งจะเป็นการกู้จากธนาคารในระยะยาวกว่า แต่หากมองว่าในอัตราที่คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะลงได้อีก และคุณภาพหนี้ไม่ด้อยคงก็มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยลีสซิ่งได้ประมาณ 0.125-0.50% แต่จากแนวโน้มคุณภาพหนี้แล้วเชื่อว่าคงจะมีการปรับลงไม่ได้มากแน่นอน

นายอิสระ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการปรับสกอริ่งในการอนุมัติสินเชื่อไว้แล้ว เนื่องจากต้องการคัดเลือกลูกค้าใหม่ที่เข้ามาให้มีคุณภาพที่ดี เพื่อให้ยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ส่วนตัวเลขเอ็นพีแอลในช่วงปี 2551 นั้น ได้มีการปรับตัวลงมาโดยตลอด โดยในเดือน ก.ค.ซึ่งเกิดความวิตกเรื่องราคาน้ำมันแพงอย่างรุนแรงนั้น เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.58% แต่หลังจากนั้น เมื่อราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลงทำให้เอ็นพีแอลในเดือน ธ.ค.ลงมาอยู่ที่ 2.2% ส่วนในปีนี้ก็ตั้งเป้าหมายจะควบคุมให้อยู่ที่ไม่เกิน 2% ซึ่งถือว่าท้าทายมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น