เอส.อี.ซี.ป่วน หลัง “สมพงษ์” หอบเงินหนี ลูกค้า-ลูกน้อง วุ่น ล่าสุด ส่งตัวแทนออกมาแถลง ย้ำเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับบริษัท เร่งประเมินความเสียหาย พร้อมนัดประชุมบอร์ดสัปดาห์นี้ ยันไม่ทิ้งลูกค้า ส่งมอบรถตามกำหนดเดิม ส่วนงานมอเตอร์เอ็กซ์โประดมรถจาก “ทีเอสเอล” หนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทสวมพื้นที่แทน ด้านวงการลงทุนเริ่มฟ้องร้องกันวุ่นระหว่างโบรกเกอร์-ลูกค้า
หลังข่าวการหลบหนีออกนอกประเทศของ นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายใหญ่ ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย NP (Notice Pending) หุ้นของบริษัท ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมราคาหุ้น (28 พ.ย.) ตกลงมาอยู่ในระดับ 0.40 บาท/หุ้น ลดลง -0.33 จุด หรือ -45.21% ปริมาณซื้อ 371,686,500 หุ้น มูลค่าซื้อขาย 172.681 ล้านบาท
โดยแหล่งข่าวในแวดวงยานยนต์ ต่างให้ความเห็นว่า เป็นผลมาจากการที่ นายสมพงษ์ ใช้เงินจำนวนมากของบริษัทวิ่งเต้นเพื่อให้ได้งานประมูลโครงการเช่ารถเมล์ปรับอากาศระบบเอ็นจีวี ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แต่ไม่สำเร็จ เพราะโครงการนี้ถูกตรวจสอบอย่างหนักจนต้องล้มและมีการเลื่อนการประมูลออกไป รวมถึงการมีปัญหากับลูกค้าและกลุ่มเงินทุนรายใหญ่
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุด โดย กิตติมา สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัท เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ออกมาเปิดเผยในงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 25 หรือ “มอเตอร์เอ็กซ์โป 2008” ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อาจมีผลบ้างกับการดำเนินงานของบริษัท และขณะนี้คณะกรรมการกำลังศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะมีการประชุมภายในสัปดาห์นี้
“เบื้องต้นเรายังไม่ได้ประเมินมูลค่าความเสียหาย แต่บอร์ดบริหารและผู้ถือหุ้นมีนัดประชุมกันสัปดาห์นี้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดวัน โดยจะศึกษาถึงผลกระทบและหนี้สิน หรือนิติกรรมใดบ้าง ที่คุณสมพงษ์ทำไว้ในนามของบริษัท แล้วถ้ามีมูลว่า คุณสมพงษ์ มีความผิดก็ต้องปลดออกจากประธานกรรมการ และตั้งคนใหม่ขึ้นมารับตำแหน่ง”
นายกิตติมา กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีลูกค้ายกเลิกการจองรถ แต่หลายรายอยากให้มีการส่งมอบรถโดยเร็ว ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าทุกอย่างยังดำเนินการโดยปกติ ไม่มีการทิ้งลูกค้าแน่นอน พร้อมการแจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา และล่าสุด บริษัทสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าด้วยการขยายเวลาการรับประกันรถยนต์ทุกคันเป็น 3 ปี หรือ 1 แสนกิโลเมตร
“สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวอาจมีผลกับภาพลักษณ์ของบริษัท แต่ยังยืนยันว่า ลูกค้าทุกรายที่จองรถไว้ไม่มีปัญหา จะส่งมอบรถตามกำหนดเดิม และการออกงานมอเตอร์เอ็กซ์โปครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงมุ่งมั่นตั้งใจ ขณะเดียวกัน ยังได้การสนับสนุนจากพันธมิตรและบรรดาผู้ถือหุ้นเป็นอย่างดี” นายกิตติมา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป ที่บริษัท เอส.อี.ซี.เข้าร่วมนั้น มีรายงานจากผู้สื่อข่าวว่า รถยนต์ที่นำมาจัดแสดงเป็นของ บริษัท ทีเอสเอล ออโต้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระในเครือเบนซ์แจ้งวัฒนะ โดย ทีเอสเอล เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของ เอส.อี.ซี.เช่นกัน ส่วนรถยนต์ไฮไลต์อย่าง “แอสตัน มาร์ติน ดีบีเอส” ที่ตอนแรกประกาศจะนำมาโชว์พร้อมขายนั้น แต่พอถึงวันจริงกลับไม่มีมาปรากฏโฉมให้เห็น
ขณะเดียวกัน โบรกเกอร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า หุ้น SECC ซึ่งครบกำหนดชำระราคาและส่งมอบใบหุ้น (เคลียริง) เมื่อวันที่ 27 พ.ย.กลับไม่สามารถเคลียริงได้บางรายการ โดยมีลูกค้าและโบรกเกอร์ฟ้องร้องดำเนินคดีกันหลายราย เนื่องจากลูกค้าที่ซื้อหุ้น ไม่ยอมจ่ายค่าหุ้น นอกจากนี้ ยังมีโบรกเกอร์บางรายไม่ชำระเงิน ค่าขายหุ้นให้กับลูกค้า
โดยจากข้อมูลพบว่า เกือบ 100% ของลูกค้า ที่ซื้อขายหุ้นนั้นเป็นกลุ่มเดียวกัน หรือเป็นตัวแทนของเสี่ยรายใหญ่ชื่อดังย่านพระราม 3 และ นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ เจ้าของบริษัท SECC ซึ่งเรื่องนี้ตลาดหลักทรัพย์และทางการควรเข้าไปตรวจสอบคำสั่งซื้อขายหุ้น SECC และเส้นทางการเงินของคนกลุ่มดังกล่าว เพื่อไม่ให้ระบบเสื่อมเสียและโครงสร้างเปลี่ยน
หลังข่าวการหลบหนีออกนอกประเทศของ นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายใหญ่ ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย NP (Notice Pending) หุ้นของบริษัท ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมราคาหุ้น (28 พ.ย.) ตกลงมาอยู่ในระดับ 0.40 บาท/หุ้น ลดลง -0.33 จุด หรือ -45.21% ปริมาณซื้อ 371,686,500 หุ้น มูลค่าซื้อขาย 172.681 ล้านบาท
โดยแหล่งข่าวในแวดวงยานยนต์ ต่างให้ความเห็นว่า เป็นผลมาจากการที่ นายสมพงษ์ ใช้เงินจำนวนมากของบริษัทวิ่งเต้นเพื่อให้ได้งานประมูลโครงการเช่ารถเมล์ปรับอากาศระบบเอ็นจีวี ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แต่ไม่สำเร็จ เพราะโครงการนี้ถูกตรวจสอบอย่างหนักจนต้องล้มและมีการเลื่อนการประมูลออกไป รวมถึงการมีปัญหากับลูกค้าและกลุ่มเงินทุนรายใหญ่
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุด โดย กิตติมา สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัท เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ออกมาเปิดเผยในงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 25 หรือ “มอเตอร์เอ็กซ์โป 2008” ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อาจมีผลบ้างกับการดำเนินงานของบริษัท และขณะนี้คณะกรรมการกำลังศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะมีการประชุมภายในสัปดาห์นี้
“เบื้องต้นเรายังไม่ได้ประเมินมูลค่าความเสียหาย แต่บอร์ดบริหารและผู้ถือหุ้นมีนัดประชุมกันสัปดาห์นี้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดวัน โดยจะศึกษาถึงผลกระทบและหนี้สิน หรือนิติกรรมใดบ้าง ที่คุณสมพงษ์ทำไว้ในนามของบริษัท แล้วถ้ามีมูลว่า คุณสมพงษ์ มีความผิดก็ต้องปลดออกจากประธานกรรมการ และตั้งคนใหม่ขึ้นมารับตำแหน่ง”
นายกิตติมา กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีลูกค้ายกเลิกการจองรถ แต่หลายรายอยากให้มีการส่งมอบรถโดยเร็ว ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าทุกอย่างยังดำเนินการโดยปกติ ไม่มีการทิ้งลูกค้าแน่นอน พร้อมการแจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา และล่าสุด บริษัทสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าด้วยการขยายเวลาการรับประกันรถยนต์ทุกคันเป็น 3 ปี หรือ 1 แสนกิโลเมตร
“สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวอาจมีผลกับภาพลักษณ์ของบริษัท แต่ยังยืนยันว่า ลูกค้าทุกรายที่จองรถไว้ไม่มีปัญหา จะส่งมอบรถตามกำหนดเดิม และการออกงานมอเตอร์เอ็กซ์โปครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงมุ่งมั่นตั้งใจ ขณะเดียวกัน ยังได้การสนับสนุนจากพันธมิตรและบรรดาผู้ถือหุ้นเป็นอย่างดี” นายกิตติมา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป ที่บริษัท เอส.อี.ซี.เข้าร่วมนั้น มีรายงานจากผู้สื่อข่าวว่า รถยนต์ที่นำมาจัดแสดงเป็นของ บริษัท ทีเอสเอล ออโต้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระในเครือเบนซ์แจ้งวัฒนะ โดย ทีเอสเอล เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของ เอส.อี.ซี.เช่นกัน ส่วนรถยนต์ไฮไลต์อย่าง “แอสตัน มาร์ติน ดีบีเอส” ที่ตอนแรกประกาศจะนำมาโชว์พร้อมขายนั้น แต่พอถึงวันจริงกลับไม่มีมาปรากฏโฉมให้เห็น
ขณะเดียวกัน โบรกเกอร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า หุ้น SECC ซึ่งครบกำหนดชำระราคาและส่งมอบใบหุ้น (เคลียริง) เมื่อวันที่ 27 พ.ย.กลับไม่สามารถเคลียริงได้บางรายการ โดยมีลูกค้าและโบรกเกอร์ฟ้องร้องดำเนินคดีกันหลายราย เนื่องจากลูกค้าที่ซื้อหุ้น ไม่ยอมจ่ายค่าหุ้น นอกจากนี้ ยังมีโบรกเกอร์บางรายไม่ชำระเงิน ค่าขายหุ้นให้กับลูกค้า
โดยจากข้อมูลพบว่า เกือบ 100% ของลูกค้า ที่ซื้อขายหุ้นนั้นเป็นกลุ่มเดียวกัน หรือเป็นตัวแทนของเสี่ยรายใหญ่ชื่อดังย่านพระราม 3 และ นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ เจ้าของบริษัท SECC ซึ่งเรื่องนี้ตลาดหลักทรัพย์และทางการควรเข้าไปตรวจสอบคำสั่งซื้อขายหุ้น SECC และเส้นทางการเงินของคนกลุ่มดังกล่าว เพื่อไม่ให้ระบบเสื่อมเสียและโครงสร้างเปลี่ยน