xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มปตท.มูลค่าวูบ 1.2 ล.ล้าน โบรกหั่นราคาเป้าหมายใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มปตท.ทรุดหนัก รับวิกฤตการเงินกดดันให้เศรษฐกิจหดตัว บวกกับราคาน้ำมันโลกลด มูลค่าตลาดรวมทั้งกลุ่มหายไปแล้วเกือบ 1.2 ล้านล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 2.23 ล้านล้านบาท ล่าสุดเหลือแค่ 1.04 ล้านล้านบาท หรือลดลงกว่า 53.28% หนักกว่าตลาดรวมที่ลดลง 48% ด้านโบรกเกอร์ ประสานเสียงหั่นราคาเป้าหมายยใหม่ PTT ให้ราคาต่ำสุดเหลือ 150 บาท ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ยังคงผันผวน แนะถือเงินสด พร้อมจับตาผลการประชุมเฟด-ผลงานบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3

จากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ในสหรัฐฯ ที่ก่อให้เกิดวิกฤตสถาบันการเงิน และขยายวงกว้างต่อระบบการเงินทั่วโลก ทำให้สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินหดหาย รวมถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในขณะนี้ ขณะเดียวกันยังได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนต้องขายเงินลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อสำรองเงินไว้เสริมสภาพคล่องภายในประเทศของตนเอง

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวได้กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวลดลงถ้วนหน้า และมีหลายแห่งที่ดัชนีลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน และได้ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำกว่าในรอบกว่า 5 ปี

โดยล่าสุด 24 ต.ค. 51 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 432.87 จุด มูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) อยู่ที่ 3.45 ล้านล้านบาท ลดลงจากปลายปี (31 ธ.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 858.10 จุด มาร์เกตแคป 6.64 ล้านล้านบาท หรือลดลงแล้วกว่า 425.23 จุด คิดเป็น 49.55% และมาร์เกตแคปลดลงกว่า 3.19 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 48.04%

***กลุ่มปตท.มูลค่าวูบเกือบ 1.2 ล้านล้าน***

ผู้จัดการฯ ได้สำรวจความเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) รวมทั้งกลุ่มคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด และมีน้ำหนักต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย พบว่า กลุ่มปตท. มีมาร์เกตแคปลดลงเกือบ 1.19 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 50 อยู่ที่ 2.23 ล้านล้านบาท เหลือแค่ 1.04 ล้านล้านบาท หรือหายไกว่า 53.28% ขณะที่ ปตท. เพียงรายเดียวมูลค่าตลาดรวมหายไปถึง 5.59 แสนล้านบาท หรือ 52.81% (ตารางประกอบข่าว)

สำหรับหุ้นในกลุ่มบมจ. ปตท. ประกอบด้วย บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ. ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) บมจ. ปตท.เคมิคอบ (PTTCH) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และบมจ. ไทยออยล์ (TOP)

หากพิจารณาเป็นรายบริษัทพบว่า PTTAR มูลค่าตลาดรวมลดลงมากที่สุด จาก 1.28 แสนล้านบาท เหลือ 0.37 แสนล้านบาท ลดลงกว่า 0.91 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70.97% อันดับสอง TOP จาก 1.76 แสนล้านบาท เหลือ 0.56 แสนล้านบาท ลดลง 1.21 แสนล้านบาท คิดเป็น68.50% และอันดับสาม PTTCH จาก 1.85 แสนล้านบาท เหลือ 0.60 แสนล้านบาท ลดลง 1.26 แสนล้านบาท คิดเป็น 67.72%

ขณะที่ PTTEP เป็นบริษัทที่มีมูลค่าราคาตลาดรวมลดลงน้อยที่สุด คือจาก 5.41 แสนล้านบาท ลดเหลือ 3.24 แสนล้านบาท ลดลง 2.17 แสนล้านบาท หรือคิดลงประมาณ 40.07%

จากวิกฤตสถาบันการเงินดังกล่าว บวกกับแนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลง ได้ส่งผลกระทบทำให้ราคาหุ้นกลุ่มบมจ. ปตท. ปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ต่างๆ ได้พิจารณาปรับตัวราคาเป้าหมายใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

สำหรับราคาเป้าหมายของบริษัทหลักทรัพย์ ที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์เซ็ทเทรดดอทคอม พบว่า กลุ่มปตท. มีราคาเป้าหมายเฉลี่ยดังนี้ PTT 334.76 บาท BCP 14.69 บาท IRPC 4.25 บาท PTTAR 19.25 บาท PTTCH 69.72 บาท PTTEP 165.91 บาท และ TOP 48.36 บาท

ขณะที่ราคาปิดล่าสุด (24 ต.ค.) อยู่ที่ระดับ PTT 162 บาท BCP 6.65 บาท IRPC 2.80 บาท PTTAR 11.20 บาท PTTCH 36.25 บาท PTTEP 95.50 บาท และ TOP 24.20 บาท

***โบรกเกอร์หั่นราคาเป้าหมายใหม่

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นแรงกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อราคาหุ้นในกลุ่มปตท. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยราคาหุ้นในกลุ่มปตท. เองได้ปรับตัวลดลงรุนแรงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนแล้วยังลดลงมากกว่าดัชนีตลาดหุ้นรวม เนื่องจากราคาหุ้นกลุ่มปตท. นอกจากจะได้รับผลจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อไปอีก จนกระทั้งกลุ่มโอเปคต้องจัดให้มีการประชุมเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ให้ปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้

“ขณะนี้บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งอยู่ระหว่างการทบทวบปรับลดราคาเป้าหมายหุ้นกลุ่มปตท.ใหม่ทั้งหมด หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบดังกล่าว โดยมีโบรกเกอร์บางแห่งได้ทยอยประกาศปรับลดราคาเป้าหมายไปบ้างแล้ว”

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานและฐานะความแข็งแกร่งของกลุ่มปตท. แล้ว ราคาในกระดานหุ้นปัจจุบันถือว่าราคาได้ปรับตัวลดลงมาก ดังนั้นนักลงทุนควรจะหาโอกาสที่เข้าไปลงทุนในระยะยาวเกิน 1 ปี เพื่อหวังผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล แต่ทั้งนี้นักลงทุนจะต้องติดตามแนวโน้มเรื่องของราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจลงทุน

***นักวิเคราะห์ให้ PTT ต่ำสุดเหลือ 150 บ.

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) นครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ประกาศปรับราคาเป้าหมายของหุ้นกลุ่มบมจ. ปตท. ใหม่ หลังจากดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง จากวิกฤตสถาบันการเงินที่ส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก

โดยราคาเป้าหมายใหม่ ได้แก่ PTT ราคาเป้าหมายอยู่ที่ระดับ 279 บาท บาท BCP ราคา 9.50 บาท IRPC ราคา 2.36 บาท PTTAR ราคา 7.50 บาท PTTCH 47.00 บาท PTTEP 122.00 บาท และ TOP ราคา 35.00 เทียบกับราคาเป้าหมายเมื่อสิ้นปี 2550 PTT 307 บาท BCP 9.70 บาท IRPC 4.90 บาท PTTAR 20 บาท PTTCH 59 บาท PTTEP 133 บาท และ TOP 45.50 บาท

นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือSYRUS กล่าวว่า ล่าสุดได้ปรับราคาเป้าหมายของหุ้นกลุ่มบมจ. ปตท. ดังนี้ PTT 250 บาท IRPC ราคา 3.00 บาท PTTAR ราคา 13.50 บาท PTTCH ราคา49.00 บาท PTTEP ราคา141.00 บาท และ TOP ราคา 35.00 บาท

ด้านนายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้พิจารณาปรับลดราคาเป้าหมายหุ้นในกลุ่มปตท. ลงเช่นเดียวกัน โดย PTT ราคาเป้าหมายใหม่อยู่ที่ระดับ 150 บาท BCPราคา 6.00 บาท IRPC ราคา 2.60 บาท PTTAR ราคา 10.00 บาท PTTCH ราคา31.00 บาท PTTEP ราคา80.00 บาท และ TOP ราคา 22.00 บาท

***ตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน

นาวสาวจิตติมา อังสุวรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ (บล.) ฟาร์อีสท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะยังคงผันผวน หลังจากปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลต่อปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินที่กดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงทิศทางตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ นักลงทุนควรจับตาทิศทางผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่ทยอยประกาศผลประกอบการออกมา โดยแนะนำให้นักลงทุนระยะสั้นขายหุ้นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีแนวรับอยู่ที่ 420จุด หรือ 404-407 จุด และแนวต้านที่ 430-440 จุด

ขณะที่นางสาวจิตรา กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (27 ต.ค.) น่าจะยังคงเงียบเหงา จากสุดสัปดาห์ดัชนีได้ปรับตัวลดลงกว่า 32 จุด ตามทิศทางตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง รวมถึงความกังวลของนักลงทุนต่อสภาพเศรษฐกิจโลกที่กำลังอยู่ในช่วงถดถอย

“ตลาดหุ้นไทยคงจะเงียบเหงา นักลงทุนจะต้องติดตามทิศทางการประชุดเฟดที่จะมีขึ้นวันที่ 28-29 ตุลาคมนี้ ว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ โดยแนะนำให้นักลงทุนควรถือเงินสดไว้ในมือจะดีกว่า แนวรับอยู่ที่ 410 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 450 จุด”

***จับตากำไรบจ.Q3-ประชุมเฟด

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานเพิ่มเติมว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 432.87 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8.16% ที่อยู่ในระดับ 471.31 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์ลดลง 53.29% จาก 89,692.82 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 41,896.12 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงจาก 17,938.56 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 8,379.22 ล้านบาท

โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยนั้น ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ จากความกังวลปัญหาวิกฤติการเงินอาจนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวทั่วโลก แม้ช่วงต้นสัปดาห์ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น ตามทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาคหลังจากที่ภาวะสภาพคล่องในตลาดเงินระยะสั้นเริ่มผ่อนคลายและแรงซื้อหุ้นในกลุ่มพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยหนุนตลาด

ขณะที่ช่วงกลางสัปดาห์ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นภูมิภาค โดยดัชนีแกว่งตัวอยู่ในแดนลบตลอดวัน ขณะที่มีแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ นำโดยกลุ่มพลังงานและธนาคาร และดัชนีหุ้นไทยปรับลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปีในวันศุกร์สุดสัปดาห์ตามตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ร่วงลงแรง โดยมีแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มพลังงานและธนาคาร

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ประเมินว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มปรับตัวอยู่ในกรอบขาลง แม้อาจฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง โดยมีปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถานการณ์การเมืองโดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ความกังวลต่อวิกฤติการเงินที่อาจนำมาสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวของตลาดหุ้นภูมิภาค ผลการประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตลอดจนการรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2551ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ประเมินแนวรับที่ 370-410 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 454 - 470 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น