นักวิเคราะห์ กังวลเม็ดเงินกู้วิกฤตการเงินสหรัฐฯ 7 แสนล้านดอลลาร์ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เผยยังมีธนาคารจำนวนมากที่ครอบครองสินเชื่อก่อสร้าง และทรัพย์สินเสื่อมค่าประเภทอื่น ซึ่งไม่อยู่ในขอบข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ จึงน่าจะมีธนาคารอีกกว่า 100 แห่ง ที่ต้องล้มละลายในปีหน้า พร้อมชี้จุดที่น่ากลัวกว่าวิกฤตปี 1930 เพราะธนาคารเหล่านี้ มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ความเสียหายสูงกว่าครั้งก่อน
วันนี้ ( 6 ต.ค.) นักวิเคราะห์ทางการเงินคาดการณ์ว่า ในปีหน้า จะมีธนาคารในสหรัฐฯ จำนวนมาก ที่ไม่สามารถคงกิจการอยู่รอดได้ แม้รัฐบาลสหรัฐจะใช้งบก้อนโต 700,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 23.8 ล้านล้านบาท เข้าอุ้มหนี้เสียของสถาบันการเงิน เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์แล้วก็ตาม
นักวิเคราะห์ยังพากันตั้งข้อสงสัยว่า งบประมาณ 700,000 ล้านดอลลาร์ ที่สภาคองเกรสเพิ่งอนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะเพียงพอหรือไม่กับการช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการเงินในสหรัฐฯ ไม่ให้สั่นสะเทือนไปมากกว่านี้
นายจาเรท ไซเบิร์ก นักวิเคราะห์จากสแตนฟอร์ด ไฟแนนเชียล มองว่า งบก้อนโตที่จะใช้ซื้อหนี้เสีย ก็อาจพอช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะยังมีธนาคารอีกหลายแห่งที่ครอบครองสินเชื่อก่อสร้าง หรือทรัพย์สินเสื่อมค่าประเภทอื่น ซึ่งไม่อยู่ในขอบข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงน่าจะมีธนาคารในสหรัฐฯ อีกกว่า 100 แห่ง ที่ต้องล้มละลายในปีหน้า
แม้ตัวเลขธนาคารที่ล้มจะมีไม่มากเท่ากับในช่วงที่เกิดวิกฤตสถาบันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย หรือ S&L Crisis ในสหรัฐฯ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เพราะจำนวนธนาคารในสหรัฐขณะนี้มีน้อยกว่าในยุคนั้นถึง 8,000 แห่ง แต่การล้มของธนาคารสหรัฐในครั้งนี้ อาจสร้างความหวั่นวิตกได้ไม่แพ้กัน เพราะธนาคารในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน มีขนาดกิจการที่ใหญ่กว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ดังนั้น การล้มละลายของธนาคารจึงน่าจะส่งผลเสียในวงกว้างและรุนแรง
นักวิเคราะห์ยังพุ่งเป้าไปที่ธนาคารในรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา จอร์เจีย อิลลินอยส์ และในรัฐมินนิโซตา ของประเทศสหรัฐ ที่มีสถานะทางการเงินอ่อนแออย่างมากในขณะนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ธนาคารทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในรัฐดังกล่าว จะต้องล้มละลาย เพราะคาดว่าอาจมีอยู่หลายแห่งในนี้ที่สามารถปรับตัวได้ทัน จนพลิกฟื้นสถานการณ์ขึ้นมาได้