xs
xsm
sm
md
lg

ธาริษาลั่นใช้นโยบายการเงินเข้ม ดูแลเงินเฟ้อ-สร้างเสถียรภาพศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯ ธปท.ประกาศนโยบายการเงิน ดูแลเสถียรภาพด้านราคาเนื่องจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังเป็นประเด็นที่ต้องให้ ความสำคัญต่อไป พร้อมยอมรับการเข้มงวดนโยบายการเงินกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น

ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2551 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 9 นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ภายใต้หัวข้อการสัมมนา "นโยบายการเงิน ในโลกที่ผันผวน : ความท้าทายและกลยุทธ์ตั้งรับ" วานนี้ (3 ก.ย.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการที่แรงกดดันด้านราคาและความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน จากทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศอย่างเช่นในขณะนี้ การดำเนินนโยบายการเงินจึงมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากทุกทางเลือกของนโยบายต่างส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจด้วยกันทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักของแต่ละทางเลือกอย่างรอบคอบ และคำนึงผลประโยชน์โดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเป็นสำคัญ

สำหรับนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการดูแล เสถียรภาพทางด้านราคา ขณะเดียวกันก็มิได้ละเลยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขอย้ำว่านโยบายการเงินที่มุ่งรักษาเสถียรภาพด้านราคาหรือดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำก็เพื่อช่วยรักษาอำนาจซื้อของประชาชนและความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างสมดุลให้กับภาคการออมที่ถูกกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจ และมีผลให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวอีกด้วย"

นางธาริษาระบุว่า หัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน ในภาวะปัจจุบัน จึงอยู่ที่การหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในช่วงที่ผ่านมา นโยบายการเงินที่เริ่มเข้มงวดมากขึ้นนี้เป็นการแสดงความแน่วแน่ของ ธปท.ที่จะดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และลดการคาดการณ์ความรุนแรงของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต

"การดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำลงในอนาคตนี้ จะสร้างบรรยายกาศที่เอื้ออำนวยต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งในที่สุดเป็นการ เพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวและย้ำว่า จุดสมดุลของการดำเนินนโยบายการเงินในขณะนี้ จึงเป็นไปในทิศทางที่ต้องดูแลเสถียรภาพด้านราคาเนื่องจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังเป็นประเด็นที่ต้องให้ ความสำคัญต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ธปท.ยอมรับว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่จากการปรับตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับกับการชะลอลงดังกล่าวได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาวิชาการของ ธปท.ปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของ ธปท.จะนำเสนอ ผลงานการศึกษาวิจัย 5 เรื่อง เพื่อตอบ คำถามตามโจทย์ที่ตั้งไว้ตามหัวข้อสัมมนาดังกล่าว คือ 1. พรมแดนของนโยบายการเงินในสภาพแวดล้อมทางการเงินยุคใหม่ 2. พลวัตของเงินเฟ้อและนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงิน 3. บทบาทของอัตราแลกเปลี่ยนใน การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบ เป้าหมายเงินเฟ้อของไทย 4. ความไม่แน่นอนของระดับศักยภาพการผลิตกับการดำเนินนโยบายการเงิน และ 5. ประสิทธิผลของนโยบายการเงินในโลกที่มีความเชื่อมโยงสูง

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยทั้ง 5 หัวข้อ นอกจากจะตอบโจทย์ตามหัวข้อสัมมนาที่ตั้งไว้แล้ว ยังเป็นการศึกษา ที่ต้องการคำตอบว่า ช่องทางการส่งผ่านนโยบายการเงิน ซึ่งมี 5 ช่องทางหลักที่ได้แก่ ตลาดการเงิน สินเชื่อ ราคาสินทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน และช่องทางการคาดการณ์ยังใช้ได้ดีหรือไม่ เพราะภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจการเงินผันผวนและมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ทำให้ ประสิทธิผลของนโยบายการเงินอาจได้รับผลกระทบหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน โดยเฉพาะสถานการณ์ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดโลกทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กำลังเป็นความท้าทายของธนาคารกลางทั่วโลกที่จะรักษาเสถียรภาพด้านราคาไปพร้อมๆ กับการดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก อาจทำให้การส่งผ่านทั้ง 5 ช่องทางไม่เป็นอย่างที่ ธปท. คิด หรือไม่เป็นไปตามทฤษฎี จึงมีความ จำเป็นต้องศึกษาวิจัยว่าช่องทางการ ส่งผ่านนโยบายการเงินทั้ง 5 ช่องทาง ในปัจจุบันนี้ ยังใช้ได้หรือไม่

นอกจากนี้ เวทีสัมมนาครั้งนี้ ยังมีการเสวนาโดยวิทยากรรับเชิญอย่างเช่น นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒินายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นต้น สำหรับงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2551 ของ ธปท.จะจัดขึ้นในวันที่ 3-4 ก.ย. 51 ที่ รร.เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์
กำลังโหลดความคิดเห็น