xs
xsm
sm
md
lg

BMCL ลุ้นรายได้ขยับ 10%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บีเอ็มซีแอลปรับกลยุทธ์ออกโปรโมชั่นครึ่งปีหลังคาดเพิ่มยอดผู้โดยสาร 4% คงการเติบโตของรายได้ที่ 8-10% หลังครม.เบรกขึ้นค่าโดยสารตามสัญญา เผยเจรจาเจ้าหนี้ขอยืดหนี้และลดดอกเบี้ย เหตุส่วนต่อขยายมาช้าเพิ่มผู้โดยสารไม่ได้ตามเป้า หวังสีม่วงเปิดดึงผู้โดยสารเพิ่มอีก 1แสนคนต่อวัน รายได้พอจ่ายดอกเบี้ยและเริ่มกำไร

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 4ปีของการเปิดให้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคม บริษัทจะออกโปรโมชั่นพิเศษให้ผู้โดยสารโดยในตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.51 ถึงสิ้นปี อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยจะทำให้ราคาเฉลี่ยของค่าโดยสารคือ 22 บาท ขณะที่ค่าโดยสารตามสัญญาเฉลี่ยประมาณ 25 บาท ซึ่งในส่วนของ บริษัทจะมีรายได้เพิ่มจากการออกโปรโมชั่นต่างๆ ประมาณ 4% หรือประมาณ 1 บาทต่อเที่ยว และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4% จากเฉลี่ยวันธรรมดาที่มีผู้โดยสารประมาณ 1.97 แสนคน และทำให้รายได้รวมของบริษัทในปี2551 นี้เพิ่มขึ้น 8-10% ตามเป้าหมาย และจะทำให้ในปีนี้บริษัทมีจุดคุ้มทุนในส่วนของการดำเนินงาน ไม่รวมภาระดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ภาวะราคาน้ำมันแพงในขณะนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกิจการของบริษัทฯ ซึ่งประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ผลขาดทุนโดยรวมของบริษัทจะลดลงอีกด้วยโดยคาดว่าปี2551ผลขาดทุนจะมีประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษ น้อยกว่าปี 50 ที่มีขาดทุนกว่า 1,400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทจะเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้คือ ธนาคารกรุงไทย ทหารไทย นครหลวงไทยและกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 1-2 เดือนนี้

นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทต้องขอยืดเวลาในการชำระหนี้ออกไปจากเดิมกำหนดไว้ที่ 12 ปี รวมทั้งขอลดอัตราดอกเบี้ยลง จากปัจจุบัน ดอกเบี้ยอัตรา MLR+0.25 จากยอดหนี้รวม 10,700 ล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทมีภาระค่าดอกเบี้ยประมาณปีละ 700 กว่าล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจาก การต่อขยายเส้นทางของรถไฟฟ้าล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้

อย่างไรก็ตาม การเปิดรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคมอีกประมาณ 1แสนคนต่อวันหรือรวมกันเป็น 3 แสนคนต่อวัน จากจำนวนผู้โดยสารที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดการณ์ว่าจะมีในการเปิดรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปีแรก จำนวน 2 แสนคนต่อวัน ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้เพียงพอต่อการจ่ายดอกเบี้ยและทำให้เริ่มมีกำไร

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้คงการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า มหานครสายเฉลิมรัชมงคม เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 39 บาท ซึ่งเก็บมาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2549 ต่อไปจนถึงวันที่ 1 ม.ค. 2552 เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน แม้ว่าตามสัญญาระหว่างบีเอ็มซีแอลกับรฟม.จะกำหนดให้ปรับอัตราค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค. 2551 เป็น เริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุด 41 บาทกก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น