ผู้ว่าฯ ธปท.ไม่สนใบสั่งปลดจากตำแหน่ง ยันเดินหน้าแก้เงินเฟ้อ-ขายไทยธนาคาร ตามแผนเดิม พร้อมยอมรับตัวเลขเงินเฟ้อในบางเดือนอาจทะลุ 2 หลักได้ ส่วนค่าเงินบาทยังอ่อนตัวเกาะกลุ่มภูมิภาค "หม่อมอุ๋ย" ยืนยันข่าวปลดจริง เพราะไม่สนองการเมือง หักหน้าขายหุ้นไทยธนาคาร
วันนี้ (16 มิ.ย.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกระแสข่าวการถูกปลดออกจากตำแหน่ง โดยระบุว่า ตนเองยังไม่ทราบรายละเอียดของข่าวดังกล่าว แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าทำงานในตำแหน่งต่อไป และไม่ขอแสดงความเห็นต่อบทความของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าฯ ธปท.ในหน้าหนังสือพิมพ์เช้าวันนี้ พร้อมยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาของธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ธปท.มีกระบวนการที่ถูกต้องชัดเจน ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินก็คงจะเดินหน้าไปตามแผนงานที่วางไว้ และน่าจะเกิดความชัดเจนได้ภายในเดือนนี้
"ตอนนี้ เราไม่อยากจะพูดอะไรมาก เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าวันนี้แทนที่จะพูดเรื่อเงินเฟ้อ แต่เอาเงินเฟ้อมาบังหน้าและเอาเรื่องอื่นมาแก้ตัว ขอพูดสั้นๆ แค่ว่าเรื่องไทยธนาคารมีกระบวนการชัดเจนอยู่แล้วตอนนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เดินหน้าอยู่มีตารางเวลา คงภายในสิ้น มิ.ย.นี้ น่าจะได้เห็นชัดเจน"
**ธปท.เปิดแถลงตัวเลขเงินเฟ้อถึง 2 หลัก แค่บางเดือน
สำหรับประเด็นเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลกันมาก ในช่วงนี้ ผู้ว่าฯ ธปท.จึงได้เปิดการแถลงข่าวด่วน เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ โดยระบุว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 51 จะเร่งตัวขึ้นไม่ถึง 2 หลัก(digit) ส่วนอัตราเงินเฟ้อ ณ ขณะใดขณะหนึ่งในช่วงครึ่งปีหลังจะเร่งตัวขึ้นถึง 2 หลัก ก็มีโอกาสเป็นไปได้แต่ไม่มากนัก ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะคาดการณ์
"โอกาสที่เงินเฟ้อเฉลี่ยในแต่ละเดือนมีถึง 2 หลักก็คงมีได้ แต่คิดว่าไม่เยอะ โดยเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นมาจากราคาน้ำมันและยากจะคาดการณ์ว่าน้ำมันจะขึ้นไปเท่าไหร่ ดังนั้นตรงนี้เป็นปัจจัยหลัก ถ้าน้ำมันขึ้นไปเยอะๆ ก็มีโอกาส"
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยการชั่งน้ำหนักความสำคัญในการดูแลอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อให้มีความสมดุลกัน โดยขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งประชุม กนง.ก่อนถึงกำหนดในเดือน ก.ค.2551 ซึ่ง ธปท.เองก็ไม่ต้องการดำเนินการใดๆ ให้เกิดความตื่นตระหนกต่อตลาดด้วย
นางธาริษา กล่าวอีกว่า งานหลักของ กนง.คือจะต้องดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่จะรับได้ โดยเชื่อว่าหากถึงจุดหนึ่งแล้วเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปจนส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเกินกว่าในระดับที่เหมาะสมต่อระบบเศรษฐกิจ ก็เชื่อว่า กนง.จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแล แต่ทั้งนี้คงบอกไม่ได้ว่าที่ประชุม กนง.ครั้งต่อไปจะตัดสินใจอย่างไร แต่ถ้าเห็นว่าเงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงก็อาจจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ หาก กนง.พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยขณะนี้ ก็ยังไม่น่าจะส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการมากนัก เพราะจากที่ ธปท.พิจารณาข้อมูลของผู้ประกอบการไทยและประเทศอื่น ๆ ต้นทุนที่เป็นภาระกับผู้ประกอบการมากที่สุดคือ ต้นทุนค่าขนส่ง โดยประเทศอื่น ๆ ต้นทุนค่าขนส่งอยู่ที่ 10% ของ GDP ขณะที่ไทยอยู่ที่ 24% ของ GDP ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่มีสัดส่วนสูงมาก ขณะที่ต้นทุนทางการเงินของไทยเป็นส่วนน้อยเท่านั้น นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค และถ้าคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ยังติดลบ
นางธาริษา กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลเงินเฟ้อจะต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านราคา เพราะถ้าดูแต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวจะทำให้ประเทศไปไม่ตลอดรอดฝั่ง เพราะมีตัวอย่างจากเวียดนามให้เห็นแล้ว จากการมุ่งไปที่อัตราขยายตัวเศรษฐกิจด้านเดียว ทำให้เงินเฟ้อพุ่งไปถึง 25% ดังนั้น จะต้องยึดถือความเห็นกลาง ซึ่งธปท.ก็ได้ดำเนินการอยู่ แต่การที่ธปท.ไม่ได้ออกมาดำเนินการใดๆ ในระยะนี้ เพราะข้อมูลยังมีความผันผวนมาก ธปท.จึงจับตาดูแลอยู่ เพื่อรอข้อมูลที่แท้จริง
**ยันค่าบาทอ่อนยังเกาะกลุ่มค่าเงินในภูมิภาค
สาเหตุที่ค่าเงินบาทอ่อนในระยะนี้ นางธาริษา กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นและนำเงินออกไปนอกประเทศ เป็นเพราะระยะหลังสหรัฐได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะเข้ามาดูแลปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดมองว่าสหรัฐจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก นักลงทุนจึงกลับเข้าไปลงทุนในตลาดสหรัฐมากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกปกติ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในเวียดนาม ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อการลงทุนในภูมิภาค และปัญหาการเมืองของไทยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บาทอ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม นางธาริษา มองว่า เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยยืนยันว่า ธปท.จะพยายามดูแลให้บาทเกาะกลุ่มไปกับภูมิภาค และไม่เคลื่อนไหวหวือหวามากเกินไป ซึ่งขณะนี้การเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาทยังไม่น่ากังวล เพราะธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
** "อุ๋ย" ยันข่าวปลด "ธาริษา" เพราะไม่สนอง รบ.ไส้กรอก
โดยเช้าวันนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันในรายการวิทยุโดยระบุถึงกระแสข่าวการปลดนางธาริษา ออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.เป็นความจริง โดยแหล่งที่มาของข่าวดังกล่าวมาจากผู้ที่เป็นกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของบอร์ด ธปท.และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
"คงไม่บอก บอกไม่ได้ แต่ว่ามีจริง แต่ขอไม่เอ่ยชื่อดีกว่า" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวสั้นๆ เช้าวันนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงสาเหตุที่มีผู้ต้องการปลดผู้ว่าการ ธปท.เนื่องจากไม่ตอบสนองนโยบายรัฐบาล แม้ที่ผ่านมา ผู้ว่าการ ธปท.ก็ไม่ได้ทำอะไรที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรง โดยเฉพาะเรื่องที่กองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่มทุนธนาคาร ไทยธนาคาร ที่มีการระบุว่าขาดทุน 2,215 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะราคาหุ้นยังเป็นไปตามราคาตลาด โดยกระบวนการเพิ่มทุนเพื่อเตรียมขายหุ้นออกส่วนใหญ่จะกำหนดให้ต่ำกว่า book value เพื่อไม่ให้ผู้ถือหุ้นเดิมขาดทุน
"ผมเอะใจ เรื่องนี้(เพิ่มทุนธนาคารไทยธนาคาร)นานมา 5-6 เดือนแล้ว ทำไมเพิ่งมาปล่อยข่าวตอนนี้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เรื่องนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือไม่นั้นตนเองไม่ทราบ และขณะนี้กำลังสืบข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิของ ก.ล.ต.เพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังทำอะไรกันอยู่