xs
xsm
sm
md
lg

"ป้าอุ" ผวาเมย์เดย์ป่วน! เคาะค่าแรง 9 บ. คาดไม่พอซื้อข้าวแกงยาไส้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.แรงงาน ยันสรุปค่าจ้างขั้นต่ำ 9 บาท หลังวันแรงงาน 2 พ.ค.นี้ ตามข้อเรียกร้องได้แน่นอน นักวิชาการชี้ รัฐบาลเกาไม่ถูกที่คัน เพราะการปรับขึ้นค่าแรง 5-9 บาท น้อยกว่าเงินเฟ้อที่จ่อทะลุ 6% ไปแล้ว ระบุ มนุษย์เงินเดือนเริ่มใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น ทั้งค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าเช่าห้อง ค่าข้าวแกง และค่าเดินทาง แห่ปรับขึ้นทุกหมวด หากชักหน้าไม่ถึงหลัง อาจเจอภาวะเลวร้ายเป็นวิกฤติสังคมได้

วันนี้(30 เม.ย.) นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง จะมีการประชุมกันอีกครั้งวันที่ 2 พ.ค.นี้ เนื่องจากในการประชุมเมื่อวานนี้ การประชุมต้องล่มลง เพราะมีตัวแทนนายจ้างมาแค่ 1 คน จากที่กฎหมายกำหนดต้องมีนายจ้าง 2 คน

ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแน่นอน แต่อาจไม่ทันวันที่ 1 พ.ค.ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานได้ขอปรับขั้น 9 บาท ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้ออกมาขู่ว่าจะจัดชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ปรับขึ้นค่าจ้าง 9 บาททั่วประเทศ

ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อการขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้าง 9 บาท โดยมองความสัมพันธ์ระหว่างเงินเดือนของลูกจ้างและภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน การปรับค่าครองชีพยังมีความจำเป็น เพราะค่าจ้างจะเป็นตัวเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งการขอปรับเพิ่ม ในอัตรา 5-9 บาทต่อวัน น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ที่อาจจะสูงกว่า 5 % หรืออาจถึงสูงถึง 6 % ในปีนี้

"ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอัดเงินลงชนบท จนลืมนึกถึงผู้ใช้แรงงาน ทั้งที่ผู้ใช้แรงงานเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่สำคัญมากในปัจจุบัน ทำไมรัฐบาลไม่สนับสนุนให้ตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ลูกจ้าง การขึ้นค่าจ้างนิดเดียว แต่กำลังซื้ออยู่ที่ลูกจ้าง เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน "

ขณะที่ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(เงินเฟ้อ)ในไตรมาสแรกของปีนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับไตรมาแรกของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.4% ได้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพคนระดับรากหญ้า คนระดับกลางและล่างที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเฟ้อจากตัวแปรด้านค่าอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และค่าพลังงาน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

"เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในระดับที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยด้านเศรษฐกิจเมื่อผู้ประกอบการถูกคุมราคาสินค้าไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ก็จะหาทางลดต้นทุนโดยลดกำลังการผลิต ทำให้ไม่สามารถปรับค่าจ้างให้พนักงานได้ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนน้อย ด้านสังคมเมื่อคนมีรายได้คงที่หรือลดลงแต่มีรายจ่ายเพิ่มอาจก่ออาชญากรรม และด้านการเมือง จะมีการเรียกร้องค่าแรงเพิ่มหากนายจ้างไม่ให้อาจเดินขบวนประท้วงกันมากขึ้นกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล"

ผศ.ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ นักธุรกิจและการตลาดมืออาชีพ แสดงทรรศนะเกี่ยวกับค่าครองชีพของมนุษย์เงินเดือนในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ว่า คนที่มีรายได้หลักจากเงินเดือนในระดับ 10,000-30,000 บาท จะเริ่มอยู่ลำบากมากขึ้น เพราะค่าครองชีพในขณะนี้ปรับตัวขึ้นไปสูงมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ที่ต้องเช่าห้องพักต่อเดือนเฉลี่ย 2-4 พันบาท และเสียค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอาหารโดยเฉพาะข้าวแกงขณะนี้ขยับจากจานละ 20 เป็น 30 บาทแล้ว คาดว่าต่อวันต้องจ่ายค่าอาหารตกวันละ 100 บาทหรือราว 3,000 บาท/เดือน นอกจากนี้ยังมีค่าเสื้อผ้าค่าใช้จ่ายอื่นๆจิปาถะ มองว่าไม่พอใช้

หากมองในแง่ของจิตวิทยากับการจับจ่ายใช้สอยเชื่อว่าจะทำให้เกิดการชะลอการซื้อ การตัดสินใจในการจับจ่ายจะมีความระมัดระวังมากขึ้น กลุ่มที่รับผลกระทบมองว่าจะเป็นพวกซูเปอร์มาร์เกต , ห้างสรรพสินค้า โดยจะสังเกตว่าเริ่มมีการโหมโปรโมชันดึงกำลังซื้อกันรุนแรงขึ้น

สำหรับบัณฑิตจบใหม่อาจต้องลดความคาดหวังเรื่องเงินเดือนที่สูงลง ไม่เช่นนั้นปัญหาการว่างงานจะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจกลางคืนพวกผับ ร้านอาหาร ตลาดอาจชะลอตัวลง เพราะคนระมัดระวังการใช้เงินเพิ่มขึ้น

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวให้ความเห็นเกียวกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่กำลังมีแนวโน้มพุ่งขึ้นเกิน 6% โดยระบุว่า ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากราคาน้ำมันและราคาพืชผลที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากไม่ได้ส่งผลถึงต้นทุนมากเกินไป หรือต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งคราว ก็ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ซึ่งการบริหารอัตราดอกเบี้ย เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ปัจจัยสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นว่า ธปท.สามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้

ธปท.ต้องทำการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นคนก็จะเฮโลซื้อของกักตุนไว้ล่วงหน้า หากมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้น หากเป็นเช่นนั้นราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นให้ได้ว่า ธปท.สามารถดูแลเงินเฟ้อได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น