รมว.คลังเงา แนะรัฐบาล เร่งขึ้นเงินค่าแรงขั้นต่ำโดยเร็ว เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ และแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง คาดน้ำมันแพง ยังเป็นตัวแปรหลัก ผลักดันทุน และราคาสินค้า ให้รุนแรงขึ้น พร้อมแสดงความอึดอัดใจ ที่ยังมองไม่เห็นรัฐบาล มีมาตรการรับมือปัญหาศก.โลกที่ชัดเจน ออกมา ทั้งซับไพรม์ น้ำมัน และภาวะอาหารขาดแคลน
วันนี้(21 เม.ย.) นายกรณ์ จาติกวนิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง "กูรูมองเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจโลก" โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือปัญหาทางการเมืองในประเทศ และปัญหาวิกฤตการคลัง การเงิน และการลงทุน รวมไปถึงประเทศคู่ค้าด้วย
"ยังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลจะออกมาตรการอะไรมารองรับ เืพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤติในระดับโลกไม่ให้มีผลกระทบมายังไทย"
สิ่งที่เป็นวิกฤติระดับโลก 3 สิ่งที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่้างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบด้วย วิกฤติเศรษฐกิจจากปัญหาซับไพรม์ที่ยังไม่คลี่คลาย , วิกฤติราคาน้ำมันแพง และวิกฤติราคาอาหารโลก
"ครม.เงาอึดอัดที่ไม่เห็นแนวคิดที่ชัดเจนของรัฐบาลว่าจะรองรับ 3 วิกฤติต่างๆ และจะฉวยโอกาสจากวิกฤติราคาอาหารโลกได้อย่างไร ที่สำคัญ รัฐบาลต้องใช้โอกาสที่โลกขาดแคลนอาหาร ส่งออกอาหารไปให้ทั่วโลก โดยเฉพาะข้าวที่มีอยู่ในสต๊อก 2.1 ล้านตัน ซึ่งหากมีอยู่จริงก็ควรออกมากระจายเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ขาดแคลน และนำรายได้เข้าสู่ประเทศ"
ส่วนปัญหาสำคัญเฉพาะหน้า ขณะนี้ ก็คือ ไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง เพราะไทยมีการนำเข้าน้ำมันสูงถึง 1 ล้านล้านบาท โดยปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลต่อราคาอาหารให้สูงขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถที่แก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นจึงอยากที่จะเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นโดยเร็ว โดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาภาระปากท้อง และเพิ่มกำลังซื้อ
รมว.คลังเงา เชื่อว่าจีดีพีของประเทศ น่าจะโตได้ถึง 6% เพราะเศรษฐกิจของประเทศยังมีปัจจัยที่จะทำให้โตได้ ทั้งในเรื่องการส่งออก การบริโภค การลงทุน และการผลิตยังเติบโตได้อยู่
ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองมีผลกดดันต่อเศรษฐกิจ ซึ่งหากรวมกับวิกฤตการณ์ในตลาดโลก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจอีก
อย่างไรก็ตามมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ย่ำแย่ เพราะการส่งออก การลงทุน และการบริโภค ยังคงขยายตัวได้อยู่