xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เปิดแผนยกระดับ บง.-บค.หนุนควบรวมเบรกตั้งแบงก์เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ระบุ แผนมาสเตอร์แพลน 2 เปิดช่องให้ บง.และ บค.ยกระดับตัวเอง เสนอแนวทางให้เลือกทั้งเริ่มต้นเป็น ธย.ควบรวมกันเอง หรือเงินทุนรายใหม่ หรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ดูแลเฉพาะปล่อยสินเชื่อ เพื่อติดตามหนี้เก่าที่ค้างอยู่ ระบุห้ามนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งสถาบันการเงินขึ้นใหม่ เชื่อ จำนวนสถาบันการเงินเพียงพอกับระบบเศรษฐกิจไทยแล้ว

นายพงศ์อดุล กฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในช่วงกลางปีนี้หรือปีหน้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินไทย โดยในส่วนของการยกระดับบริษัทเงินทุน (บง.) และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) ที่มีเหลืออยู่ในระบบสถาบันการเงินนั้นจะมีการจัดระบบสถาบันการเงินของ บง.และ บค.ให้ใช้หลักการเช่นเดียวกันธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารเพื่อรายย่อยในการยกระดับตัวเอง ซึ่งเน้นให้ทยอยปรับตัวได้

ทั้งนี้ แนวทางแรก ธปท.จะเปิดช่องให้ บง.และ บค.ที่มีความสามารถ แต่มีทุนน้อยค่อยๆ ยกระดับตัวเอง โดยการเริ่มยกระดับให้เป็นธนาคารเพื่อรายย่อยก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท และต่อไปหากมีทุนมากขึ้นสามารถยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งต้องมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

ส่วนแนวทางที่สอง คือ ให้ บง.และ บค.ที่เหลืออยู่ควบรวมกิจการกันเอง หรืออาจจะควบรวมกิจการกับธนาคารพาณิชย์ หรืออาจจะให้นักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพสามารถนำทุนใหม่เข้ามาช่วยพัฒนา บง.และ บค.ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจอยู่ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ ธปท.จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของเจ้าของทุนดังกล่าว รวมทั้งแผนการดำเนินธุรกิจที่จะร่วมกันดำเนินธุรกิจในไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ หากสถาบันการเงินมีปัญหา

“แผนมาสเตอร์ฉบับที่ 2 นี้ เราเปิดช่องให้นักลงทุนรายใหม่ทั้งคนไทยหรือต่างชาติที่สนใจทำธุรกิจสถาบันการเงินเข้ามาร่วมทุนได้ แต่ห้ามไม่ได้ให้เข้ามาเพิ่มจำนวนสถาบันการเงินรายใหม่ในระบบ แม้ไทยได้ถูกเรียกร้องมาตลอดให้เปิดเสรีทางการเงินจากองค์การการค้าโลก(WTO) และข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) ก็ตาม เพราะปัจจุบันมีจำนวนสถาบันการเงินประมาณ 34 แห่ง ขณะเดียวกัน ก็มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้ามาช่วยดูแลภาคธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไปให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ ถือว่าเพียงพอกับสภาพเศรษฐกิจไทยแล้ว ซึ่ง ธปท.เองก็ต้องคิดให้รอบคอบว่าสามารถมีขอบเขตเปิดช่องได้แค่ไหน”

สำหรับแนวทางสุดท้ายจะปล่อยให้ บง.และ บค.สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เฉพาะปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว แต่ไม่ให้รับเงินฝาก (Credit Institute) เท่านั้น เพราะแม้ปริมาณธุรกรรมน้อย แต่ถ้าบังคับให้คืนใบอนุญาตหรือเลิกกิจการอาจส่งให้ บง.และ บค.มีปัญหาในการติดตามหนี้ที่ยังค้างอยู่ได้ ซึ่งเชื่อว่าวิธีนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมนัก

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบง.ในระบบมีทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่ ฟินันซ่า สินอุตสาหกรรม กรุงเทพธนาทร แอ๊ดวานซ์ และ อเมริกันเอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ขณะที่ บค.มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บค.ลินน์ ฟิลลิปส์ มอร์ทเก็จ บค.สหวิริยา และ บค.เอเซีย

นอกจากนี้ สายนโยบายสถาบันการเงินของ ธปท.ได้รายงานยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแยกตามประเภทลูกหนี้และประเภทสินเชื่อล่าสุด ณ วันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า บง.มีจำนวนทั้งสิ้น 28 ล้านบาท ซึ่งล้วนเป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ โดยแบ่งเป็นเงินให้กู้ยืม 17 ล้านบาท เงินเบิกเกินบัญชี 5 ล้านบาท ตั๋วเงิน 4 ล้านบาท และอื่นๆ อีก 2 ล้านบาท ขณะที่ บค.มีเพียงตั๋วเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 7 ล้านบาท

ขณะที่ยอดคงค้างเงินรับฝากแยกตามประเภทผู้ฝากและประเภทบัญชีเงินฝากในส่วนของ บง.มีจำนวน 2,286 ล้านบาท แบ่งเป็นการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ในส่วนของออมทรัพย์ 1,291 ล้านบาท จ่ายคืนเมื่อทวงถาม 309 ล้านบาท และจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา 41 ล้านบาท และยังมีการฝากเงินกับสาขาธนาคารต่างชาติในรูปแบบจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาจำนวน 577 ล้านบาท และออมทรัพย์อีก 67 ล้านบาท ส่วน บค.มีการฝากเงินผ่านธนาคารพาณิชย์จำนวน 167 ล้านบาท เป็นรูปแบบจ่ายคืนเมื่อทวงถาม 88 ล้านบาท ออมทรัพย์ 49 ล้านบาท และจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น